ข่าวหนี้เสียมอเตอร์ไซด์ July 2024
https://www.prachachat.net/finance/news-1614122
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (ครม.) ครั้งล่าสุด มีการพูดถึงการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนกันอย่างกว้างขวาง และให้โจทย์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม
แก้หนี้ครัวเรือนเรื่องเร่งด่วน
โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญ โดยนอกจากหนี้บ้านแล้ว ก็ยังมีรถยนต์ แล้วก็มีสินค้าอุปโภคบริโภค...
ดังนั้น การแก้ไขหนี้รถยนต์ก็อาจจะต้องมี ต้องใช้ความพยายาม และผู้ที่จะร่วมแก้ไข ก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ เพื่อให้การแก้ไขลุล่วง ซึ่งหนี้เสียรถยนต์ที่น่าเป็นห่วง จะเป็นกลุ่มรถกระบะที่เริ่มเป็นมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้ใช้รถในการทำมาหากิน
“การที่เราจะผลักดันประเทศให้เดินต่อ เราจะไม่ผลักดันที่ตัวคนไม่ได้ ประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ต้องเร่งแก้ไข”
ห่วงหนี้เสียรถกระบะ-มอ’ไซค์
นายพิชัยกล่าวว่า จากข้อมูลที่หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) หรือราว 10 ล้านล้านบาท พบว่า มีเป็นหนี้เสีย (NPL) อยู่กว่า 1 ล้านล้านบาท และหลายเดือนที่ผ่านมา มีสัญญาณว่าหนี้เสียจะเพิ่มขึ้น จากข้อมูลหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ซึ่งหมายถึงหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น...
“เมื่อผ่าเข้าไปดู พบว่า ครึ่งหนึ่งเป็นหนี้บ้านกับหนี้รถยนต์ ต่อมาคือหนี้บัตรเครดิต และหนี้การใช้จ่ายเพื่อบริโภค ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปหารือในเรื่องของแก้ไขหนี้บ้านกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นหนี้และรักษาบ้านไว้ได้”
ทั้งนี้ นายกฯได้สั่งการให้พิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้ยานยนต์ โดยเน้นในกลุ่มลูกหนี้ประเภทรถกระบะ และมอเตอร์ไซค์ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน โดยตอนนี้กำลังเร่งหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และบริษัทไฟแนนซ์ โดยแยกกลุ่มหนี้เสีย ที่ถูกยึดรถแล้ว และสินเชื่อใหม่ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำมารายงานในการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งหน้า
เปิดตัวเลขหนี้เสียเพิ่มขึ้น
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สินเชื่อรถปิกอัพ ณ สิ้น พ.ค. 2567 มีทั้งสิ้น 2.7 ล้านบัญชี มูลหนี้ 9.9 แสนล้านบาท หดตัว -4.2% โดยเป็น NPL จำนวน 4.3 แสนบัญชี เพิ่มขึ้น 28.7% มูลหนี้ 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.1% ส่วนที่เป็น SM อยู่ที่ 2.8 แสนบัญชี เพิ่มขึ้น 7.1% มูลหนี้ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3%
“ยอดสินเชื่อรถกระบะคิดเป็น 38.9% ของสินเชื่อรถยนต์ ส่วนยอด NPL คิดเป็นสัดส่วน 55.7% ของ NPL รถยนต์ และยอด SM คิดเป็น 54.9% ของ SM รถยนต์”
ส่วนสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ณ สิ้น พ.ค. 2567 มีทั้งสิ้น 3.5 ล้านบัญชี มูลหนี้ 2.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% โดยเป็น NPL จำนวน 1 ล้านบัญชี หดตัว -2.4% มูลหนี้ 5.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% ส่วน SM มี 2 แสนบัญชี หดตัว -3.9% มูลหนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท หดตัว -4.9%
ลีสซิ่งปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง
นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด และอุปนายกสมาคมธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ก็ได้เข้ามาหารือและพูดคุยถึงการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มรถจักรยานยนต์ เนื่องจากมองว่า เป็นกลุ่มลูกค้าฐานราก ทั้งนี้ ประเมินแนวโน้ม NPL กลุ่มรถจักรยานยนต์ทั้งระบบน่าจะทรงตัวเฉลี่ย 5-8% ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถาบันการเงินในเรื่องการตัดหนี้สูญ (Write off) ว่าทำเร็วหรือช้าระดับใด
“บางค่ายหนี้เสียจะอยู่ที่ 3% หรือบางค่าย 5% เป็นต้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่า NPL ใหม่จะลดลง และ มีสัญญาณดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ การแข่งขันที่ลดลง รวมถึงภายหลังจากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้า”
อย่างไรก็ดี บริษัทช่วยเหลือลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีโปรแกรมการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ทำมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เช่น ลูกค้าผ่อนชำระไม่ไหว จะมีการลดค่างวดลง และปรับเทอมการชำระหนี้ออกไป ขึ้นอยู่กับความสามารถของลูกค้า
“เรามีการสื่อสารกับ ธปท.ต่อเนื่องในเรื่องของการช่วยเหลือลูกค้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะผู้ประกอบการเองก็ไม่อยากให้เป็นเอ็นพีแอล ดังนั้น คงไม่ได้เห็นการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยมาก หลังจากนี้ เนื่องจากเราทำเป็นปกติอยู่แล้ว”
แบงก์ยันช่วยลูกค้า-ไม่อยากยึดรถ
นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า แบงก์ได้ช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) อยู่แล้ว โดยลูกค้าที่ยังต้องการเก็บรถไว้ประกอบอาชีพสามารถพูดคุยในการปรับโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการผ่อนชำระ เช่น จากเดิมเคยผ่อนเดือนละ 10,000 บาท อาจจะปรับเหลือ 6,000-7,000 บาท
“สถาบันการเงินเอง ก็ไม่ต้องการยึดรถลูกค้าอยู่แล้ว นอกจากลูกค้ารายนั้นไม่ต้องการรถและไม่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้”
สำหรับสถานการณ์ยอดขายรถกระบะในปี 2567 นี้ ยังคงชะลอตัว โดยในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว -41% มียอดขายราว 75,903 คัน สะท้อนตามกำลังซื้อที่แผ่วลง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มรถกระบะ จะเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มภาคผลิต และขนส่ง ซึ่งปัจจุบันรายได้เกษตรยังติดลบหรือค่อนข้างน้อย ส่วนภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากสินค้าจีน ที่เข้ามาแข่งขัน ทำให้กำลังการผลิตลดลง ดังนั้น จึงกระทบต่อกำลังซื้อรถกระบะชัดเจน
“ต้องยอมรับว่า แบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มกระบะตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งทำให้ยอดขายลดลงราว 50% เพราะโดยปกติลูกค้ากลุ่มนี้จะชำระกระท่อนกระแท่นอยู่แล้ว ยอดรีเจ็กต์จึงสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป หรือหากรายได้ไม่ชัดเจน แบงก์ก็ไม่ปล่อย หรือปล่อย ก็ต้องมีเงินดาวน์ เฉลี่ย 20-25% ขึ้นกับราคารถ”
คงต้องติดตามว่า มาตรการที่รัฐบาลจะเคาะออกมาในการช่วยเหลือลูกหนี้รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ จะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ที่เข้มข้นขึ้น หรือมีอะไรมากกว่านั้น...
No comments:
Post a Comment