Sunday, March 31, 2013

10 วิกฤติเศรษฐกิจเขย่าโลก

10 วิกฤติเศรษฐกิจเขย่าโลก

Credit: http://www.thaiviclub.com/blogs/315

1. วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1929

ถือเป็นปฐมบทแห่งหายนะทางธุรกิจยุคบุกเบิกเลยทีเดียวสำหรับวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริการยุคปี ค.ศ. 1929 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Great Depression ที่หากกล่าวไปคงไม่มีใครเชื่ออย่างแน่นอนว่าจะมีภาพคนอเมริกันนับแสนเข้าคิวรอรับอาหารและของแจกฟรีจากหน่วยงานการกุศล ซึ่งวิกฤติทางการเงินในครั้งนั้นเกิดจากความตื่นตูมจนเกินเหตุของเหล่าบรรดาอเมริกันชนที่มีต่อตลาดหุ้นวอล สตรีท และพากันไปกู้เงินมาลงทุนในตลาดหุ้นจนหมดตัวเพื่อหวังรวยทางลัด จึงเป็นที่มาของการเกิดภาวะเก็งกำไรขึ้น ส่งผลให้ หุ้นของหลายๆบริษัทมีราคาทะยานขึ้นสูงเกินกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว ทั้งที่เศรษฐกิจของอเมริกาช่วงนั้นกำลังถดถอย ทำให้เมื่อถึงเดือนกันยายนก็เริ่มมีข่าวลือว่าหลายๆบริษัทมีอาการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง และวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ตลาดหุ้นวอล สตรีท ก็เกิดความผันผวนอย่างหนัก หุ้นตกแบบทิ้งดิ่งจนถึงขีดสุด มีการระดมเทขายอย่างหนัก จนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง หุ้นที่ประชาชนถืออยู่ในมือจึงกลายเป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่งไปในพริบตา ไม่เว้นแม้กระทั่งธนาคารก็พากันล้มละลายไปหลายสิบแห่งเพราะประชาชนไม่สามารถคืนเงินกู้ได้ วิกฤติการเงินในครั้งนี้จึงสอนให้เรารู้ว่าการลงทุนโดยขาดการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านคือหายนะอย่างแท้จริงไม่ต่างอะไรจากแมงเม่าบินเข้ากองไฟเลยแม้แต่น้อย

2. วิกฤติการเงินของอาร์เจนติน่า ค.ศ. 1999-2002

หายนะวิกฤติการเงินของอาร์เจนติน่าเกิดจากความผิดพลาดหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม นโยบายการเงิน ไปจนถึงการคอร์รัปชัน ทั้งหมดสั่งสมมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทหารจนถึงประชาธิปไตยซึ่งกดดันจากต่างประเทศ โดยอาร์เจนติน่ามีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสูงมากจนเกิดภาวะการขาดดุลทางการเงินอย่างหนัก แถมมีปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงซึ่งเพิ่มขึ้นเดือนละ 200% และเกือบจะ 3000% ในปี 1983 จนมีการเปลี่ยนรัฐบาลและนโยบายทางการเงินใหม่หมด มีการกำหนดค่าเงินแบบตายตัวแต่มันไม่ได้ให้ผลดีเลยกลับทำให้เกิดปัญหาด้านการส่งออกขึ้นอีก เพราะค่าเงินแข็งเกินไปทำให้สินค้าส่งออกขายได้ยากขึ้นหนี้เก่าก็มีเป็นจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาต้องชำระหนี้สินคืนต่างประเทศก็ไม่สามารถใช้คืนได้ สุดท้าย IMF ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน

วิกฤตินี้ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าความสามารถของผู้นำและนโยบายทางการเงินของรัฐบาลมีผลต่อการอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากขนาดไหน

3. ฟองสบู่แตกในสินทรัพย์ของญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1986-1990

ต้องเข้าใจว่าชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีระเบียบวินัยในการออมเงินที่สูงมากมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธนาคารและสถาบันทางการเงินมีเงินเป็นจำนวนมากอยู่ในระบบ ทำให้พวกเขาคิดจะขยายการเติบโตทางธุรกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากการปล่อยกู้ให้เอกชนและประชาชนได้นำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งขณะนั้นดัชนีหุ้นนิเคอิพุ่งสูงติดกระดานตลาดหลักทรัพย์เลยทีเดียวแต่แล้วความจริงก็ปรากฎขึ้นเมื่อตลาดของญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยประชาชนมีเงินอยู่ในมือก็จริงแต่เมื่อพวกเขาไม่อยากจะเอาออกมาใช้รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ ถึงแม้จะพยายามลดดอกเบี้ยเงินฝากขนาดไหนเงินก็ยังไม่ออกมาจากระบบ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงเริ่มซบเซาตลาดหุ้นตกเงินทุนในภาคธุรกิจหายไปกว่าครึ่ง ซึ่งในเมื่อไม่มีอุปสงค์ในตลาดอุปทานก็จึงไม่เกิดเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเงินทุนก็เริ่มโยกย้ายออกไปในต่างประเทศ การจ้างงานลดลงคนตกงานเป็นจำนวนมาก รัฐบาลญี่ปุ่นแก้ปัญหาแบบเลี้ยงไข้จึงทำให้ใช้ระยะเวลาสะสางปัญหานานถึง 12 ปี กว่าจะดึงอัตราการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาอยู่ในแดนบวกได้จากกรณีนี้เองจึงจะเห็นได้ว่าการกระตุ้นการลงทุนนั้นจะต้องทำไปพร้อมๆกันการสร้างพฤติกรรมการบริโภคอย่างต่อเนื่องด้วย

4. วิกฤติทางการเงินที่ประเทศสวีเดน ค.ศ. 1990-1994

หลายคนค่อนข้างแปลกใจที่วิกฤติทางการเงินครั้งนี้มาเกิดขึ้นที่ประเทศสวีเดนดินแดนที่ถือเป็นรัฐสวัสดิการต้นแบบและธรรมาภิบาลดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซึ่ง ณ จุดเด่นตรงนี้เองได้กลายสภาพมาเป็นหนี้สาธารณะที่สูงมากนานหลายสิบปี จนเมื่อประมาณปลายปี ค.ศ.1980 สวีเดนได้เริ่มคลายความเข้มงวดที่มีต่อสถาบันทางการเงินหลังจากคงอยู่มานานถึง 50 ปี ผลก็คือสถาบันทางการเงินปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนอย่างคะนองมือเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ สินทรัพย์ต่างๆในช่วงนั้นราคาทะยานขึ้นสูงอย่างประวัติการณ์จนก่อให้เกิดเป็นการขยายตัวในลักษณะของฟองสบู่ แล้วในที่สุดฟองสบู่ที่ว่านั่นก็แตก สินทรัพย์ต่างๆลดมูลค่าลงกลับกลายเป็นของด้อยค่าไปในพริบตา เมื่อการเก็งกำไรไม่ได้ผลนักธุรกิจและประชาชนก็ต่างไม่มีเงินใช้หนี้ที่กู้มา ธนาคารก็เริ่มล้มลงเป็นแถบๆและลุกลามกลายเป็นวิกฤติทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนในที่สุดจึงเห็นได้ว่าการที่ฝ่ายบริหารให้อิสระกับภาคธุรกิจมากเกินไปโดยไม่มีการควบคุมมักจะทำให้การจัดการมวลรวมของระบบธุรกิจขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามาควบคุมให้ระบบเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องโดยที่ไม่ผูกขาดเกินไปหรือปล่อยจนเกินไป

5. ฟองสบู่ธุรกิจดอทคอม ปี ค.ศ.1995 – 2000

อินเตอร์เน็ตและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคือความหวังในอนาคตของมนุษย์ และนักลงทุนเป็นจำนวนมากเชื่อในสิ่งที่ว่านั้น จึงแห่แหนกันไปลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องในส่วนเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากเพราะมันเป็นอนาคตของการทำธุรกิจในขณะนั้น แต่แล้ววันเผด็จศึกก็มาถึงเมื่อความนิยมของอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีไม่ได้สูงเหมือนดั่งเป้าที่วางไว้ ความผิดหวังในเทคโนโลยีเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆเพราะความก้าวหน้าในขณะนั้นยังไม่ถึงกับระดับความต้องการที่มนุษย์คาดหวังไว้จะให้มันมี ความถดถอยก็เริ่มเกิดขึ้นในตลาดทุนเมื่อราคาหุ้นเทคโนโลยีเริ่มตกลงถึงขีดที่ว่าไม่เหลืออะไรเลยและกลับกลายเป็นภาวะฟองสบู่แตกในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สอนให้เรารู้ว่าการลงทุนแบบเก็งกำไรและแนวทางการทำธุรกิจที่เน้นการเติบโตมากกว่าผลกำไรคือหายนะที่น่ากลัวมากกับการทำธุรกิจโดยตลอดมา

6. วิกฤติต้มยำกุ้งในประเทศไทย ปี ค.ศ. 1997-1999

หายนะที่คนไทยหวังให้เป็นเพียงแค่ฝันร้าย เหตุการณ์เริ่มเมื่อ ค.ศ. 1997-1999 ประเทศในอาเซียนได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศจนอาจเรียกได้ว่าฮอตติดลมบน บวกกับนโยบายทางการเงินของไทยช่วงนั้นซึ่งส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกด้วย เมื่อมีปัจจัยบวกจากภายในและภายนอกเช่นนี้จึงเกิดการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน และหุ้นจนสูงมากกว่าเงินที่มีอยู่ในระบบหลายสิบเท่าตัวเศรษฐกิจประเทศไทยจึงเข้าสู่ระบบการเก็งกำไร “โดยกู้มาลงทุน” ด้วยหวังกำไรส่วนต่าง

ฟังดูเหมือนจะไปได้ดี แต่สิ่งหนึ่งที่นักเก็งกำไรมองข้ามไปคือเมื่อเงินอยู่ในระบบมากเกินจะส่งผลให้เงินเฟ้อและค่าเงินบาทลดลงอย่างหนัก ทำให้หนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว แถมยังมีปัจจัยความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามาอีก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเทเงินเข้าระบบเพื่อรักษาและคงที่ค่าเงินบาทเอาไว้ แต่การเทเงินเข้าระบบแบบหมดหน้าตักกลับเป็นนโยบายการเงินที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง เงินคงคลังของประเทศลดต่ำลงจนเกือบเรียกได้ว่าล้มละลายธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไร้ความสามารถในการชำระหนี้ สุดท้ายรัฐบาลไทยจึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด หนี้ของประเทศจึงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว สถาบันทางการเงินปิดไปถึง 56 แห่ง ประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันต่างต้องขอรับความช่วยเหลือจาก IMF

บทเรียนหายนะวิกฤติต้มยำกุ้งในครั้งนี้สอนให้รู้ว่าไม่ควรคาดหวังกับเงินในอนาคตที่มาจากการเก็งกำไรมากเกินไปนัก เพราะธุรกิจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่มีความเสถียรพร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้ว

7. วิกฤติการเงินในรัสเซีย ปี ค.ศ. 1998

วิกฤติทางการเงินในดินแดนถิ่นหมีขาวและวอดก้าอร่อยในครั้งนี้สร้างความเจ็บปวดร้าวให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมากโดยเรื่องเริ่มจากรัสเซียในขณะนั้นเพิ่งจะหลุดพ้นจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเดิมและทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นทุนนิยมมากขึ้น สินค้าหลักๆในขณะนั้นก็คือพวกเหล็ก น้ำมัน และทองแดงเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยมีเอเชียเป็นลูกค้าอันดับหนึ่ง แต่พอเอเชียประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจของตนเองเข้า การสั่งซื้อสินค้าจากรัสเซียก็น้อยลงในขณะที่ปริมาณการผลิตเท่าเดิม จึงเริ่มเป็นที่มาของราคาสินค้าตกต่ำถึงขีดสุด แต่เนื่องจากรัสเซียต้องการเงินมาพัฒนาโครงสร้างของประเทศจำนวนมหาศาลจึงออกพันธบัตรเงินกู้เป็นจำนวนมากนำออกขายให้นักลงทุนที่สนใจ โดยมี Yield (ผลผลิตสุทธิที่ได้จากกระบวนการผลิต ซึ่งหักการสูญเสียออกทั้งหมด)ถึง 20% ในหนึ่งปีซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหน และนักลงทุนขณะนั้นก็มีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของรัสเซียพอสมควรเพราะพวกเขาเห็นว่ามี IMF คอยหนุนหลังอยู่คงไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด นักลงทุนจึงระดมกู้เงินจากทั่วโลกเพื่อมาซื้อพันธบัตรรัสเซียเก็บเอาไว้เพื่อเก็งกำไร แต่แล้วฝันร้ายก็เกิดขึ้นเมื่อรัสเซียสวมบทซามูไรชักดาบเบี้ยวหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1998 แถมยังออกมาตรการห้ามประชาชนถอนเงินสดออกจากธนาคารอีกด้วย เศรษฐกิจจึงพังไปเกือบทั่วโลก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความละโมบโลภมากของนักลงทุนนั่นเอง จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสอนนักลงทุนว่าไม่มีอะไรได้มาฟรีๆเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลตอบแทนที่มากเกินความเป็นจริง แต่ดันจับต้องไม่ได้จริง

8. วิกฤติน้ำมันในยุค ค.ศ.1970

เพราะเครื่องจักรและยานพาหนะแทบทุกสิ่งบนโลกล้วนต้องใช้น้ำมัน และแหล่งน้ำมันส่วนใหญ่มักอยู่ในชาติมุสลิมซึ่งเป็นภาคีโอเปก การเกิดสงครามระหว่างอาหรับและอิสราเอลจึงเป็นเหตุการส่งออกน้ำมันจากชาติอาหรับหยุดชะงัก สร้างความแตกตื่นให้ประชาชนผู้บริโภคจนพากันแห่ซื้อน้ำมันมากักตุนไว้อย่างบ้าคลั่งราวกับเกิดกลียุคด้านพลังงานขึ้น จากนั้นกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันอย่างโอเปกสามารถชิงอำนาจการกำหนดราคามาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาและสหภาพยุโรปได้อย่างถาวร อันเป็นการเปลี่ยนอำนาจชนิดสลับขั้วที่สำคัญมาก ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่จนเกือบล่มสลาย เพราะเมื่อน้ำมันราคาแพงขึ้น ต้นทุนการผลิตย่อมสูงขึ้นแน่นอน ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ผู้บริโภคมีกำลังซื้อไม่พอ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงตามๆ กัน แต่ที่หนักสุดคือประเทศด้อยพัฒนาที่ต่างชักหน้าไม่ถึงหลังด้วยกันทั้งสิ้น

วิกฤติครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และบางครั้งผู้เป็นเจ้าของตลาดก็มิอาจอยู่เหนือเจ้าของปัจจัยการผลิตอย่างที่เป็นมาในอดีตเสมอไป

9. วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศกรีซ ปี ค.ศ. 2009

วิกฤติเศรษฐกิจของกรีซปะทุขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมานี่เอง โดยสาเหตุหลักๆมีที่มาจากการขาดวินัยทางการเงินของผู้บริหารประเทศในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารเงินคงคลังภายใน ผสมกับภาวะถดถอยทางการเงินของกระแสเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นทำให้งบประมาณภาครัฐขาดดุลถึงร้อยละ 14.5 และยังมีหนี้สาธารณะขึ้นสูงถึงร้อยละ 113 ของ GDP ซึ่งยังไม่รวมรายจ่ายต่อปีจำนวนมากอีก นอกจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวมาช้านานยังกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนอีกด้วย ที่ร้ายกว่านั้นคือการที่มันส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป จนเหล่าบรรดาภาคี EU และ IMF ต้องเข้าให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเพื่อกอบกู้ประเทศนี้เอาไว้ไม่ให้ล้มละลายจากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศกรีซนั้นมีที่มาจากการขาดไร้ซึ่งระเบียบวินัยทางการเงินของผู้บริหารประเทศและการก่อหนี้สาธารณะขึ้นสูงจนเกินไปตามรูปแบบประชานิยมนั่นเอง

10. วิกฤติซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 2008 – ปัจจุบัน

วิกฤติซับไพร์มหรือที่เรียกกันว่า “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ตามประสาสื่อบ้านเรานั้นเป็นวิกฤติทางการเงินครั้งล่าสุดซึ่งมีที่มาจากสถาบันการเงินของอเมริกันได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปล่อยกู้สินเชื่อจำนวนมหาศาลให้กับบริษัทและประชาชนที่มีความน่าเชื่อถือน้อยมาก ซึ่งถ้าเป็นในอดีตบริษัทและประชาชนเหล่านี้ไม่มีทางจะขอกู้ผ่านแน่นอน โดยผู้กู้จะต้องยอมจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าเพื่อเป็นการทดแทนการได้รับสินเชื่อมาแบบง่ายๆ ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของวิกฤติอย่างแท้จริงเพราะสถาบันทางการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเหล่านั้นประเมินลูกค้าเอาไว้สูงกว่าความเป็นจริงมากทั้งๆที่ลูกค้าบางคนไม่มีคุณสมบัติในการผ่อนชำระเงินแม้แต่แค่ดอกเบี้ยเลยด้วยซ้ำ และเงินที่กู้ไปส่วนใหญ่ก็มักจะลงไปในระบบอสังหาริมทรัพย์เสียด้วย เพราะมีชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากที่ต้องการที่อยู่อาศัยใหม่และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถสร้างงานสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาลอีกด้วยสุดท้ายแล้วผลที่ตามมาก็คือเหล่าบรรดาลูกหนี้เหล่านี้ทั้งที่เป็นบริษัทเอกชนและประชาชนก็เริ่มขาดส่งเงินให้กับทางสถาบันการเงินจนนำไปสู่การขาดสภาพคล่องของธนาคารในที่สุด ธนาคารหลายๆแห่งต้องล้มลงอย่างไม่เป็นท่าและกลายเป็นคลื่นยักษ์พัดถล่มระบบเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก วิกฤติครั้งนี้จึงทำให้เราเห็นได้ว่าการขาดความรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อมักจะนำมาสู่หายนะที่โหดร้ายเสมอๆ

Saturday, March 23, 2013

หุ้นดิ่งลึก ปิดตลาดร่วง50จุด ซื้อขายทำสถิติใหม่ทะลุ 1 แสนล้าน (22 Mar 2013)

หุ้นดิ่งลึก ปิดตลาดร่วง50จุด ซื้อขายกระฉูด ทำสถิติใหม่ทะลุ 1 แสนล้านคาดสัปดาห์หน้าอ่อนตัวต่อ
22 Mar 2013


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวันนี้ ดัชนี SET ปรับลดลงแรงตลอดการซื้อขายทั้งวัน ดดยในช่วงเช้าลดลงไปถึง60จุด หลังมีการปล่อยข่าวที่ไม่เป็นมงคลในตลาดหุ้นไทย รวมถึงมีการคาดการณ์กันว่า นางสาวยิ่งลักษณ์อาจจะประสบอุบัติเหตุทางการเมือง กรณีปล่อยเงินกู้30ล้านบาทให้บริษัทสามี หลังมีกระแสข่าวว่าเตรียมนายกฯสำรองไว้แล้วคือนางเยาวภา วงศ์ สวัสดิ์ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยลดลงกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้านในภูมิภาค ก่อนจะปิดตลาดในช่วงเย็นที่ระดับ1,478.97จุด ลบ50.55จุด หรือลดลง3.30% และทำสถิติใหม่ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 101.361ล้านบาท โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขาย ดัชนีSETลงไปต่ำสุดที่ระดับ1,464.72จุด และสูงสุดที่ระดับ1,526.27จุด





นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผยว่า ดัชนีที่ปรับตัวลงแรงวันนี้ เป็นเรื่องปกติ หากเทียบเป็นระดับเปอร์เซ็น เพราะที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปสูงมากมาตั้งแต่ปีทีjแล้วมากกว่า 40 % และไม่มีการเทขายของนักลงทุนต่างประเทศ เป็นนักลงทุนรายย่อยเท่านั้นที่ซื้อขายหุ้น

“หุ้นปรับตัวลดลง 4-5 %นั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาหุ้นขึ้นไปกว่า 40 % จึงมีโอกาสปรับตัวลงได้ ทั้งที่ไม่มีปัจจัยใกระทบ และนักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้ขายหุ้นมาก ทำให้เห็นว่าการที่หุ้นลงในครั้งนี้เป็นคนไทยที่เล่นกันเองทั้งนั้น ในอดีตก็เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว อย่างในวันที่ 4 กันยายน 2554 ดัชนีหุ้นก็เคยร่วงเป็น 100 จุด”
           

ในส่วนมาตรการของตลาดหลักทรัพย์ในการรับมือในช่วงที่ดัชนีปรับตัวลงใน ช่วงนี้นั้นยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา ทั้งนี้หากดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงเกิน 5 % ตลท.จะต้องแจ้งให้กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และกระทรวงการคลัง ถึงสถานการณ์ที่หุ้นปรับตัวลดลง และหากหุ้นตกลงถึง 10 % ถึงจะมีการหยุดการซื้อขายชั่วคราว ส่วนเรื่องบังคับขายหุ้น(ฟอร์ซเซล) นั้นจากการพูดคุยกับบริษัทหลักทรัพย์ ยังไม่พบความผิดปกติในเรื่องดังกล่าวและยังไม่ห่วงในปัญหานี้ แต่ทั้งนี้ก็ทางตลท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ในช่วงเช้าวันที่ 22 มีนาคม ว่าตลาดหุ้นซึ่งปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเงินทุนจากต่าง ประเทศแต่อย่างใด เนื่องจากดูจากการซื้อขายแล้วนักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ หมายความว่าผู้ที่ขายสุทธิน่าจะเป็นนักลงทุนไทยและจากตัวเลขเงินทุนเคลื่อน ย้ายเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ก็พบว่าเงินทุนจากต่างประเทศไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เท่าใดนัก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดพันธบัตร
  

อย่างไรก็ตามที่มีข่าวว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้หารือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงการวางหลักประกันบัญชีเงินสดในการซื้อขายหุ้นเพิ่ม(มาร์จิ้น) จาก 15% เป็น 20%นั้น ไม่น่าจะมีนัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลง

นายประสาร ได้กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ใน 2 เดือนที่ผ่านมาก็เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างยืดหยุ่นก็ยังคงทำงานอยู่ เห็นได้จากเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าไประดับหนึ่งก็ได้อ่อนค่าลง ซึ่งการที่ทางธปท. จะออกมาตรการอะไรหรือไม่นั้นก็ไม่อยากพูดถึงให้มากนัก
  

ด้านนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดในวันนี้ปรับตัวลงแรงมาก เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวนในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของพรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่มีผู้ต่อต้านมากขึ้น และการเพิ่มการวางหลักประกันหลักทรัพย์ในบัญชีซื้อขายหุ้นเงินสดเป็น 20 % ทำบางกลุ่มต้องขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยงของตัวเองลง ในส่วนของการบังคับขายหลักทรัพย์นั้นมีก็มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นค่อนข้างชัดเจน แต่ไม่สามารถระบุเป็นตัวเลลขได้ ทำให้นักลงทุนพากันขายหุ้นในช่วงนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฏเกณฑ์ในการบังคับขายหุ้นนั้น จะมีการบังคับในบัญชีเครดิตบาลานซ์ หากหลักทรัพย์ที่วางค้ำประกันบัญชีมีมูลค่าลดลงเกิน 50 % โบรกเกอร์จะบังคับขายหุ้นที่มีอยู่เพื่อให้ได้วงเงินค้าประกัน ที่ได้ตกลงไว้ ทั้งนี้ หากมูลค่าหลักทรัพย์ลดลงเกิน 5 % เจ้าหน้าที่การตลาดหรือมาเก็ตติ้งจะติดต่อผู้เปิดบัญชีเพื่อแจ้งเตือน หากมูลค่าหลักทรัพย์ลดลง 30 % เจ้าของบัญชีจะต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันบัญชีเพิ่ม และหากเกิน 50 % บริษัทหลักทรัพย์จะบังคับขายหุ้นเพื่อเพิ่มหลักประกันของบัญชี


ข้อมูลล่าสุด 22 มี.ค. 2556 17:00:04
 
 
 

Tuesday, March 19, 2013

Panic?? วันที่19 มีนาคม 2556

Mar 19 '2013 SET ตก -37 จุด ก่อนปิดที่ -23 จุด


จากข่าวที่ BOT แสดงความกังวลเรื่องเงินบาทแข็งเกินไป

เนื้อข่าว

http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=174790:2013-03-19-07-21-52&catid=176:2009-06-25-09-26-02&Itemid=524

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวถึง สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าว่า ยอมรับว่าขณะนี้ เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมากและรวดเร็ว
แต่ยังไม่จำเป็นต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)นัดพิเศษ หรือมีมาตรการพิเศษออกมาดูแล ยืนยันว่าธปท.จะดูแลตามความเหมาะสม และติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอีกสักระยะ

โดยวันนี้ (19 มี.ค.) นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 29.39/41 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 29.52/54 บาท/ดอลลาร์ โดยในวันนี้เงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าที่สุดในรอบ 28 เดือน และล่าสุดอยู่ที่ระดับ 29.38/40 บาท/ดอลลาร์

Saturday, March 9, 2013

สงครามโลก สงครามค่าเงิน

สงครามโลก สงครามค่าเงิน

ในช่วงปลายปี 2012 ต่อมายังต้นปี 2013 ความกังวลเรื่องของสงครามกลับมาปกคลุมทั่วโลกอีกครั้ง แต่สงครามในที่นี้ ไม่ใช่สงครามที่ใช้อาวุธห้ำหั่นทำลายล้าง หากแต่เป็น "สงครามค่าเงิน" ที่น่ากังวลว่าหากเกิดขึ้นจริง ความสูญเสีย...ในแง่เศรษฐกิจอาจมากมายมหาศาล และต้องใช้เวลานานหลายปีในการเยียวยาฟื้นฟู

สงครามค่าเงินคืออะไร

สงครามค่าเงินหรือ Currency War คือภาวะที่ประเทศต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด มีการค้าขายซื้อหาสินค้าระหว่างกัน ต่างพยายามที่จะแข่งขันกัน "ลดค่าเงิน" ของตนเองให้อ่อนค่าลงมาเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ด้วยมุ่งหวังว่าค่าเงินของตนเองที่ถูกลง การส่งออกก็จะมากขึ้น และในทางกลับกัน สินค้านำเข้าจะมีราคาแพงขึ้น ผู้คนก็จะลดการนำเข้าสินค้าลง และหันมาบริโภคสินค้าภายในประเทศแทน ซึ่งบรรดาธุรกิจในประเทศ ตลอดจนการจ้างงาน ก็น่าจะดีขึ้น

แต่ในความเป็นจริง สงครามค่าเงินอาจไม่ก่อให้เกิดผลดีอย่างที่กล่าวมา นั่นก็เพราะเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง จงใจทำการลดค่าเงินของตนเองลงให้ผิดเพี้ยนไปจากภาวะสมดุลที่เกิดขึ้น ประเทศนั้นอาจมีการส่งออกที่ดีขึ้นในระยะแรกๆ แต่กลับทำให้ประเทศอื่นมีการส่งออกที่ลดลง มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นซึ่งประเทศอื่นๆ นั้นอาจเลือกตอบโต้ภาวะไม่สมดุลนี้ด้วยการลดค่าเงินของตนเองลงมาบ้าง และเมื่อระบบการค้าโลกมีประเทศจำนวนมากมาย มีค่าเงินหลากหลายสกุล แต่ละฝ่ายก็พยายามลดค่าเงินของตนเองเพื่อใช้สู้กัน ห้ำหั่นกัน สุดท้ายแล้ว ปริมาณการค้าโดยรวมของทั้งโลกจะลดลงเป็นอย่างมาก และได้รับผลกระทบเชิงลบกันหมด เรียกได้ว่าไม่มีใครชนะเลย

นอกจากนี้ สงครามค่าเงินยังมีผลเสียอีกมาก เช่น การทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อค่าเงินของตนเองตกต่ำลง สินค้าที่นำเข้าย่อมแพงขึ้น และสินค้าบางอย่างเช่นพลังงาน บางประเทศก็ผลิตไม่ได้ต้องนำเข้าเท่านั้นเงินเฟ้อก็จะพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว และถ้าหากบริษัทไปกู้เงินต่างประเทศเอาไว้ จำนวนหนี้สินย่อมเพิ่มพูนตามอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง

นั่นคือความน่ากลัวของสงครามนี้ เป็นสงครามที่สุดท้าย ทุกฝ่ายจะสูญเสียเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ในสงคราม แต่ทุกคนคือผู้แพ้ในทางเศรษฐกิจ

สงครามค่าเงินในอดีต

ในอดีตนั้นเคยเกิดสงครามค่าเงินมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก คือ ช่วงทศวรรษที่ 1930 ในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกหรือ Great Depression ที่ในตอนนั้น อัตราแลกเปลี่ยนที่เคยใช้คือการอิงกับทองคำถูกยกเลิก และประเทศส่วนใหญ่ในโลก ต่างหันมาใช้การลดค่าเงินของตัวเองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสุดท้าย การค้าขายทั่วโลกก็ลดต่ำลงเป็นอย่างมาก เพราะค่าเงินในแทบทุกสกุลอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครอยากซื้อหาสินค้าของกันและกัน เพราะพรุ่งนี้ ราคาสินค้าอาจถูกลงได้อีกมากจากค่าเงินที่ลดลงนั่นเอง

ความกังวลเกี่ยวกับสงครามค่าเงินในปัจจุบัน

นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2010 เป็นต้นมา ความกังวลเรื่องสงครามค่าเงินกลับมาอีกครั้ง โดยในเดือนกันยายนปี 2010 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศบราซิลที่ชื่อว่าคุณ กุยโด้ แมนเตก้า ได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่าเขามีความกังวลเป็นอย่างมากว่าโลกกำลังจะเกิดสงครามค่าเงินขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้มาตรการ QE ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มกังวลตามว่าการเพิ่มปริมาณเงินในระบบมากๆ คือการพยายามที่จะลดค่าเงินของตนเองหรือไม่ หลังจากนั้น ในช่วงระหว่างปี 2010 ถึง 2011 สหรัฐฯ ก็โจมตีจีนโดยตลอดว่าได้ทำให้เงินหยวนของตนเองมีค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ เริ่มมองว่าค่าเงินคืออุปสรรคและข้อจำกัดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเอง

สงครามค่าเงิน 2013

สำหรับความกังวลเกี่ยวกับสงครามค่าเงินในรอบล่าสุดนั้น เริ่มตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศอย่างชัดเจนที่จะใช้นโยบายการเงินผ่านการซื้อพันธบัตรแบบจำนวนไม่จำกัด ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลจากนโยบายของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ ประธานธนาคารกลางตลอดจนรัฐมนตรีคลังของหลายประเทศออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าการกระทำครั้งนี้ อาจเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดสงครามค่าเงินขึ้นก็เป็นได้

คนแรกที่ออกมาพูดถึงในประเด็นนี้คือคุณ อเล็กซี่ อุลยูคาเยฟ รองประธานธนาคารกลางรัสเซีย หลังจากนั้นก็มีอีกหลายคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็นคุณ พัค แจวาน รัฐมนตรีคลังของเกาหลีใต้ คุณเยนส์ เวียดมานน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมันหรือบุนเดสแบงก์ ซึ่งคุณเวียดมานน์บอกว่าอย่างชัดเจนว่าเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมายังไม่รุนแรงพอที่จะเรียกว่าเป็นการแข่งขันกันลดค่าเงินได้ แต่หลังจากนโยบายของญี่ปุ่น โอกาสของการเกิดสงครามค่าเงิน ถือว่าเป็นไปได้ ขณะที่นายกของเยอรมันอย่างคุณแองเจล่า แมร์เคิล และประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขาเซ็นหลุยส์ อย่างคุณเจมส์ บุลลาร์ดต่างก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งของญี่ปุ่น ก็พยายามชี้จุดยืนที่แตกต่างกันออกไป โดยคุณอากิระ เอมาริ รัญมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่นบอกว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น มีขึ้นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืด ไม่ได้มี เจตนาที่จะลดค่าเงิน

แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์สถานการณ์กลับเริ่มเข้มข้นขึ้น หลังจากที่ประธานกลางยุโรป คุณมาริโอ ดรากี ออกมาบอกว่าธนาคารกลางยุโรป อาจต้องทำอะไรบางอย่าง หากค่าเงินสกุลยูโรยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบกับเงินสกุลเยน ซึ่งการออกมาพูดในลักษณะนี้ ก็ทำค่าเงินสกุลยูโร อ่อนค่าลงทันที ก่อนที่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จะมีถ้อยแถลงร่วมกันออกมาจากที่ประชุมกลุ่มประเทศ G7 ว่าประเทศสมาชิกทุกรายเห็นพ้องต้องกันว่าจะหลีกเลี่ยงภาวะสงครามค่าเงินให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติ กลับไม่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายของญี่ปุ่นมากนัก ทำให้ยิ่งเกิดความกังวลขึ้นอีกว่า หากญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายการเงินของตนเองต่อไป สงครามค่าเงิน อาจเกิดขึ้นในท้ายที่สุด

เพราะเมื่อค่าเงินสกุลหนึ่งอ่อนลง สกุลอื่นๆ ก็แข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ ทำให้มีการยืนยันว่าในเดือนมกราคมปี 2013 นี้ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ชิลี และสวีเดน คือประเทศที่ทำการแทรกแซงค่าเงินของตนเองมากที่สุด หลังค่าเงินของพวกเขาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยสรุปแล้ว จนถึงเวลานี้ก็ยากที่จะบอกด้ว่าสงครามค่าเงินจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพียงแต่หลายประเทศ ก็พยายามออกมาตัดไฟแต่ต้นลม และแน่นอน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวเช่นนี้ หากต้องเกิดสงครามค่าเงินขึ้นจริง คงปั่นป่วนเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากสงครามต้องเกิดขึ้นจริง คงไม่มีใครอยากมาเป็นคนที่ปรับตัวเป็นคนท้ายๆ เนื่องจากจะมีเสียกับเสีย และความกลัวที่จะต้องเป็นคนท้ายๆ ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดสงคราม แต่เมื่อพูดถึงสงครามค่าเงิน หากใครคิดจะเริ่มต้นด้วยการใช้ค่าเงินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงก่อนคนอื่น ก็คงเป็นดังเช่นที่ฟรานเชสโก้ เกวเรอร่า คอมลัมนิสต์ของวอลสตรีทเจอร์นัลเปรียบเทียบไว้ว่า "สงครามค่าเงินก็เหมือนการฉี่รดบนที่นอน ในช่วงแรกๆอาจสบาย แต่หลังจากนั้นจะมีแต่ความยุ่งเหยิง

ผู้เขียน : เฉลิมพร ตันติกาญจนากุล

ที่มา : วารสาร Money & Wealth ฉบับเดือน มีนาคม 2556

Thursday, March 7, 2013

ศิลปะของการเลือกหุ้น – William O’Neil

ศิลปะของการเลือกหุ้น – William O’Neil

วิลเลียม โอนีล (William O’Neil) เป็นตัวอย่างของนักลงทุนผู้มองโลกในแง่ดี เป็นแฟนตัวยงและเชื่อมั่นในศักยภาพของระบบเศรษฐกิจอเมริกัน บิลกล่าวเสมอว่า “โอกาสอันเยี่ยมยอดเกิดขึ้นทุกปีในอเมริกา เมล็ดสนเล็ก ๆ สามารถเติบโตเป็นต้นสนขนาดใหญ่มหึมาได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ขอเพียงมีความมานะพยายาม ทำงานหนัก ความมุ่งมั่นของเราคือปัจจัยสำคัญที่สุดในความสำเร็จ เตรียมตัวให้พร้อมแล้วคว้าไว้ให้ได้”

โอนีลคือข้อพิสูจน์สิ่งที่เขา พูดเอง เขาเกิดในยุค great depression ที่รัฐโอกลาโฮมาและเติบโตขึ้นในรัฐเทกซัส เขาเริ่มอาชีพครั้งแรกด้วยการทำงานเป็นนักวิเคราะห์ในบริษัทหลักทรัพย์ในปี 1958 ณ บริษัทแห่งนี้ โอนีลเริ่มพัฒนาหลักการและแนวคิดของการลงทุน อันเป็นจุดเริ่มต้นของวิธี CANSLIM อันโด่งดัง ในระยะเวลาเพียง 2 ปี ระหว่างปี 1962-63 ผลตอบแทนของโอนีลสูงถึง 40 เท่า ในปีถัดมา บิล ลาออกจากที่ทำงานเพื่อตั้งบริษัท William O’Neil & Co เป็นบริษัทหลักทรัพย์ของตนเอง และทำหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์ให้กับลูกค้าสถาบัน โดยมีลูกค้าสถาบันกว่า 500 แห่ง ในปี 1983 โอนีลเปิดตัว Investor’s Daily หนังสือพิมพ์เพื่อการลงทุนสำหรับลูกค้าบุคคลเป็นครั้งแรก เพื่อนำเสนอข้อมูลของหุ้นอันประกอบด้วย EPS, relative strength และ trade volume ของหุ้นแต่ละตัว และอีก 5 ปีถัดมา เขาเขียนหนังสือชื่อ How to Make Money in Stocks ที่นักลงทุนแนวนี้ใช้เป็นรากฐาน และตำราอ้างอิงแห่งการลงทุน ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่โอนีลทำงานเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลผ่านสิ่งพิมพ์ ของเขา ผลตอบแทนในการลงทุนไม่ได้ถดถอยลงแต่อย่างใด โอนีลสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีได้ราว 40% ในช่วงระยะเวลาสิบปีหลังมาตลอด

ต่อไปจากนี้ เป็นการสรุปหลักการสำคัญที่ วิลเลียม โอนีล ให้ไว้ในการสัมภาษณ์กับ Jack Schwager ใน Market Wizards

1. โอนีลค้นพบแนวคิด ที่มาของ CANSLIM ในปี 1959 โดยศึกษาลักษณะการเลือกหุ้น และการลงทุนของ Jack Dreyfus ผ่าน Dreyfus fund ซึ่งทำผลตอบแทนได้เป็น 2 เท่าของผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนรวมอื่นในตลาด โอนีลค้นคว้ารายงานประจำไตรมาสของ Dreyfus fund และรายละเอียดของหุ้น และระยะเวลาที่กองทุนเข้าซื้อหุ้นกว่า 100 ตัว และนำมา plot ใน chart สิ่งที่โอนีลพบก็คือ หุ้นทุกตัวที่ Dreyfus fund เข้าซื้อ ล้วนแต่เป็นหุ้นที่ทำ new high

2. ดังนั้นแนวคิดแรกของโอนีลที่ได้เรียนรู้มาคือ การจะทำผลตอบแทนได้ดีนั้นไม่ได้เกิดจากการเข้าซื้อหุ้นที่ราคาต่ำ หรือใกล้ราคาต่ำที่สุด แต่เกิดจากการซื้อหุ้นที่ break out จาก broad base และกำลังทำ new high เมื่อเทียบกับ base นั้น เราพยายามหาหุ้นที่กำลังเริ่ม major move หรือ major trend ดังนั้นเราจะไม่นั่งแช่เสียเวลา 6 เดือน 9 เดือนกับหุ้นที่ไม่ไปไหน

3. หลังจากนั้น เขาพยายามศึกษาลักษณะของหุ้นที่เป็น big winner ทั้งหมดว่าหุ้นแต่ละตัวนั้นมีคุณลักษณะอะไรบ้างที่เหมือนกัน ก่อนที่จะกลายเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง จนเป็นที่มาของหลักการ CANSLIM

4. Current earning หุ้นที่มีผลตอบแทนดีที่สุด มักมีผลกำไรของไตรมาสล่าสุด เทียบ YOY เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 70% ก่อนที่หุ้นจะทำ major price advance ไม่มีเหตุผลอะไรที่หุ้นจะขึ้นได้มาก ถ้าผลกำไรของกิจการเท่าเดิมหรือแย่ลง โอนีลใช้เกณฑ์นี้เป็นข้อแรกในการเลือกหุ้นว่า หุ้นที่เขาจะเลือกจะต้องมีการเติบโตของผลกำไรไตรมาสล่าสุดอย่างน้อย 20-50% YOY

5. Annual earning การศึกษาย้อนหลังของโอนีล พบว่าหุ้นที่เป็น top performer จะมี 5Y CAGR ของ earning เฉลี่ย 24% ในอุดมคติ เราจึงควรเลือกหุ้นที่มี annual earning growth YOY ด้วย ซึ่ง IBD จะมีการคำนวณ EPS rank โดยคำนวณการเติบโตของ quarterly EPS 2 ไตรมาสล่าสุด ร่วมกับ annual EPS growth 5 ปีย้อนหลัง แล้วเรียงลำดับ percentile เทียบกับหุ้นทั้งตลาด

6. New สิ่งใหม่อาจเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่/บริการใหม่, ทีมผู้บริหารใหม่ หรือ อุตสาหกรรมกลุ่มใหม่ ข้อมูลของโอนีลพบว่า 95% ของหุ้นยอดเยี่ยม จะมีอะไรใหม่ในสามกลุ่มนี้ นอกจากนี้คำว่า new ยังหมายถึง new high price ด้วย เพราะ 98% ของนักลงทุนจะไม่ยอมซื้อหุ้นที่ทำ new high เป็นที่มาแห่งวาทะที่โอนีลมักกล่าวเสมอว่า “It is one of the great paradoxes of the stock market that what seems too high usually goes higher and what seems too low usually goes lower.”

7. Share outstanding (supply/demand) พบว่าหุ้นกว่า 95% ที่ได้ผลตอบแทนดีมาก มักเป็นหุ้นที่มีจำนวนหุ้นน้อยกว่า 25 ล้านหุ้นในช่วงที่มี performance ดีที่สุด ค่าเฉลี่ยของจำนวนหุ้นต่อกิจการอยู่ที่ 11.8 ล้านหุ้น

8. Leader or laggard ในช่วง 30 ปีย้อนหลัง พบว่าหุ้นที่ทำผลตอบแทนให้นักลงทุนได้ดีที่สุด 500 ตัวแรกจะมีค่า 12-month relative strength score (percentile) เท่ากับหรือมากกว่า 87 ก่อนจะมี major price move ดังนั้นหุ้นที่เลือกควรจะเป็นหุ้นนำตลาดเสมอ โดยโอนีลจะเลือกหุ้นที่มี RS rating มากกว่าหรือเท่ากับ 80

9. Institution เป็น demand ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของหุ้น ดังนั้นหุ้นที่มีความต้องการจากสถาบันจะเป็นหุ้นที่ขึ้นได้เร็วกว่า อย่างไรก็ดี หุ้นที่มีสถาบันถืออยู่มากเกินไปกลับไม่ใช่หุ้นดีเพราะจะกลายเป็นปัจจัยที่ ทำให้เกิดแรงขายอย่างแรง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีกับหุ้นตัวนั้น หรือตลาดโดยรวม

10. Market direction มีความสำคัญต่อการวิ่งของหุ้น เพราะหุ้น 3 ใน 4 จะมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดเสมอ

11. จากหลัก CANSLIM ทั้ง 7 ข้อ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จะมีหุ้นไม่เกิน 5% ที่เข้าเกณฑ์นี้ (โดยเฉลี่ยจะมีราว ๆ 2%) จะเห็นได้ว่าเกณฑ์นี้เข้มงวดมาก เพราะเราต้องการเลือกเฉพาะหุ้นที่ดีที่สุด

12. ในช่วงระยะเวลาที่โอนีลลงทุนมาด้วยหลักการนี้ winning rate ของเขาอยู่ที่ราว ๆ 2 ใน 3 (ถือว่าเยอะมาก) แต่มีหุ้นเพียง 10-20% ที่เป็น super performers

13. โอนีลจะไม่เข้าซื้อหุ้นที่เข้าเกณฑ์ตามหลักพื้นฐาน (คือ current และ annual earning) ถ้าหุ้นไม่เข้าตามเกณฑ์ RS rating และไม่มี breakout ไม่ซื้อที่ base หรือซื้อก่อนจะมี breakout เพราะหุ้นอาจไม่มี breakout เลยก็ได้ การลงทุนในหุ้นเรามีโอกาสจะซื้อเร็วไป หรือซื้อช้าไปได้เสมอ แนวคิดการซื้อที่ breakout คือการเข้าซื้อเมื่อเราอยู่ในจุดที่มีโอกาสขาดทุนน้อยที่สุด การซื้อที่ base หุ้นอาจมีการแกว่งตัวได้สูงถึง 10-15% ซึ่งเรามีโอกาสถูกเขย่าออกไปก่อนได้ ถ้าเราเข้าซื้อในจุดที่ถูกต้อง หุ้นจะมีโอกาสน้อยมากที่จะ correct ลงมาเกิน 7%

14. RS rating สูงมาก ๆ เช่น 99% ไม่ได้หมายความว่าหุ้นนี้ขึ้นไปสูงมาก และใกล้ดอยเสมอ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขสูง ๆ ของ rating แต่อยู่ที่ว่าราคาหุ้นได้ขึ้นไปสูงเกินว่า base มากหรือยัง (overextended price) โอนีลจะไม่ซื้อหุ้นที่ราคาพุ่งจาก base ไปเกิน 10%

15. การดูทิศทางตลาด เพื่อแยกระหว่าง market top กับ normal correction โอนีลบอกว่า market top เกิดขึ้นได้ 2 แบบเท่านั้นคือ แบบแรก ดัชนีทำ new high แต่ volume เบาบาง หรืออีกแบบคือ volume หนาแน่นหลาย ๆ วัน แต่ดัชนีไม่ค่อยไปไหน วิธีการดูทิศทางตลาดอีกแบบที่ดีคือ คอยสังเกต performance ของ leading stocks ถ้าพบว่าในขณะที่ตลาดเป็นกระทิง แต่หุ้นนำตลาดเริ่ม break down ไปทีละตัวสองตัว ถือเป็นสัญญาณของ market top ได้

16. ตัวชี้วัดอีกอย่างหนึ่งที่โอนีลกล่าวไว้คือ ให้ดู Fed fund rate ถ้า Fed ขึ้นดอกเบี้ย 2-3 หนแล้ว ตลาดที่เป็นกระทิงอยู่มักไม่ค่อยรอด

17. โอนีลไม่แนะนำให้นักลงทุนทั่วไป short หุ้นในช่วงตลาดหมี โอนีลเองทำกำไรจากการ short ในตลาดหมีได้เพียง 2 ใน 9 หน สัญญาณ short ที่ดีใน chart คือหุ้นที่ break out ใน 3rd หรือ 4th base แล้ว fail และจุด stop loss ของ short ก็เหมือนกันคือไม่เกิน 7%

18. ปรัชญาการเลือกหุ้นของโอนีลคือ หุ้นทุกตัวเลวหมด ไม่มีหุ้นดียกเว้นหุ้นจะมีราคาสูงขึ้น ถ้าซื้อแล้วหุ้นลง ต้อง cut loss เสมอ ความลับสำคัญของการเอาชนะตลาด ไม่ได้อยู่ที่การซื้อถูกเสมอ ในความเป็นจริงคุณถูกน้อยกว่าครึ่งก็สามารถเอาชนะตลาดได้ กุญแจสำคัญอยู่ที่การขาดทุนให้น้อยที่สุดเมื่อคุณผิด ถ้าซื้อแล้วขาดทุนเกิน 7% โอนีลจะขายหมดโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดยังเชื่อวลีที่ว่า ไม่ขาย ไม่ขาดทุน อยู่

19. เมื่อเข้าซื้อหุ้นแล้ว สิ่งที่ควรจำข้อแรกคือ เราควรถือหุ้นไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ราคาหุ้นยังมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ข้อสอง เราควรระลึกไว้เสมอว่าเป้าหมายของเราคือการทำกำไรในหุ้นตัวนั้นอย่างสมน้ำสม เนื้อ และเราไม่มีทางที่จะขายหุ้นได้ในราคาที่สูงที่สุด เป็นเรื่องที่ไร้สาระมากที่เราจะมานั่งเสียดายเมื่อหุ้นที่เราขายแล้วมีราคา สูงขึ้นไปอีก

20. สิ่งไร้สาระอีกอย่างที่เห็นประจำคือ การที่มีคนบอกว่าหุ้นตัวนี้ undervalued เพราะว่ามี P/E ต่ำ ข้อมูลของโอนีลบ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง return rate กับ P/E ของหุ้นที่เป็น best performers นั้นต่ำมาก ข้อมูลย้อนหลัง 33 ปีของโอนีลจากตลาดหุ้นอเมริกาพบว่า best performers มี P/E เฉลี่ย 20 ก่อนจะมี major move เทียบกับ P/E ของตลาดที่ 15 และในจุดที่สิ้นสุด major move หุ้นเหล่านี้มีค่า P/E เฉลี่ยที่ 45

21. หุ้นที่มี P/E ต่ำนั้นมีเหตุผลที่มันจะต่ำอยู่อย่างนั้น จึงไม่ควรจะซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเพียงเพราะว่ามันมีค่า P/E ต่ำ และไม่ควรขายหุ้นเพียงเพราะมันมี P/E สูง โอนีลยกตัวอย่างหุ้น Xerox ที่มีคนขายและ short ที่ราคา $88 เพราะว่ามันมีค่า P/E 50 ผลปรากฏว่าหุ้นตัวนี้วิ่งไปถึง $1,300 (หลังปรับจาก stock split)

22. นอกจาก P/E แล้ว ผลตอบแทนของหุ้นก็ไม่มีความสัมพันธ์กับอัตราเงินปันผลด้วย

23. โอนีลไม่สนใจ overbought/oversold indicators เลย ประสบการณ์ของเขาบอกว่าเครื่องชี้วัดเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อะไร

24. การกระจายความเสี่ยง (diversification) คือ hedge of ignorance การเลือกหุ้นไม่กี่ตัวที่สุดยอด และเรารู้จักมันอย่างดี มีความเสี่ยงน้อยกว่า และมีโอกาสได้ผลตอบแทนดีกว่ามาก จำนวนหุ้นที่ควรถือ ขึ้นกับขนาดของพอร์ต ถ้าขนาด 2 แสนบาท ควรถือ 1-2 ตัว, 4 แสนบาท ควรถือ 3-4 ตัว, 1 ล้านบาท ควรถือ 4-5 ตัว, 2 ล้านบาท ควรถือ 5-6 ตัว และ 4 ล้านบาทขึ้นไปควรถือ 6-7 ตัว (อันนี้ปี 1989 นะ ถ้าตอนนี้อาจจะต้องเพิ่มขนาดพอร์ตแต่ละขั้น 2-3 เท่า)

25. สิ่งหนึ่งที่โอนีลเห็นว่าเป็นความเชื่อที่ผิด คือ ความเชื่อที่ว่า stock chart เป็นเรื่องไม่ต่างกับไสยศาสตร์ หาเหตุผลไม่ได้ โอนีลกล่าวว่า นักลงทุนในตลาดเพียง 5-10% ที่เข้าใจเรื่องนี้จริง (คนที่ใช้มัน ส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ) เพราะ stock chart แสดงข้อมูลที่เกิดขึ้นกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต่างกับแพทย์ที่อ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ในการติดตามผู้ป่วย

26. Volume ของหุ้นใช้ในการดู supply และ demand ของหุ้นตัวนั้น การเพิ่มขึ้นของ volume สำคัญมากในการเริ่มต้นของ price movement และในช่วง consolidation ที่ดีควรมี volume dry-up

27. การเกิด losing streak ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะความผิดพลาดของเราเอง โดยทั่วไปจะเป็นเครื่องเตือนว่าตลาดกำลังแย่ ถ้าเรามี losing streak 6-7 หน เราควรหยุดแล้วออกมาดูข้างสนามเสียก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดโดยรวม

28. จากหลักการของ CANSLIM ที่โอนีลใช้มาตลอดนั้น โอนีลย้ำว่าใช้ได้กับการลงทุนหุ้นรายตัวเท่านั้น โอนีลเชื่อว่าทุกคนควรมีบ้าน, อสังหาริมทรัพย์ และลงทุนในหุ้น หรือลงทุนในกองทุนรวม กองทุนรวมถือเป็นการลงทุนที่ดีมากในระยะยาว ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจมัน หัวใจแห่งความสำเร็จในการลงทุนผ่านกองทุนรวมคือลงทุนแล้วนั่งเฉย ๆ ไม่ต้องไปคิด เมื่อตั้งเป้าลงทุนผ่านกองทุนแล้ว เป้าหมายของเราคือเราจะลงทุน 10 ปี 15 ปี หรือนานกว่านั้น นั่นคือหัวใจสำคัญของการได้ผลตอบแทนที่ดีจากกองทุนรวม และการจะทำเช่นนั้นได้หมายความว่าเราต้องผ่านภาวะตลาดแย่ ๆ 3-4-5 ครั้ง กองทุนรวมที่ดีมักให้ผลตอบแทนดีเลิศ (เช่น 70-100%) ในช่วงตลาดกระทิง และอาจติดลบ 15-20% ในช่วงตลาดหมี

29. สำหรับหุ้นรายตัว เราอาจได้ผลตอบแทนสุดยอดหลายเท่า หลายสิบเท่า หรือหลายร้อยเท่า ในทางกลับกัน หุ้นตัวหนึ่งอาจลดมูลค่าลง 80-90-99% ได้ ซึ่งถ้าเราถือหุ้นตัวนั้นอยู่เราอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้เท่า เดิมได้อีกเลย แต่การลงทุนในกองทุนรวมนั้นต่างกัน กองทุนเหล่านี้มีการกระจายหุ้นที่ถืออยู่เป็นจำนวนมาก หลากหลายกลุ่มซึ่งถือเป็นตัวแทนของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ เมื่อเศรษฐกิจผ่านช่วงเวลาเลวร้าย และฟื้นตัวมาได้ กองทุนเหล่านี้ควรฟื้นตัวมาด้วย ความผิดพลาดที่เราเห็นประจำคือ นักลงทุนไม่น้อยเกิดความหวาดกลัวตัดสินใจถอนเงินออกมา และทำลายผลตอบแทนของตนเองลง ทั้งที่อันที่จริงแล้ว นักลงทุนควรซื้อเพิ่มในช่วงนั้น

30. โอนีลไม่เชื่อใน EMT และ random walk theory เพราะตลาดหุ้นไม่ได้มีประสิทธิภาพหรือ random ตลอดเวลา

31. ความสำเร็จของการลงทุนของโอนีล อาศัยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ กระบวนการคัดเลือกหุ้นและการเข้าซื้อที่ดี, การจำกัดความเสี่ยง และวินัยที่จะยึดมั่นกับปัจจัย 2 ข้อแรก