Thursday, March 7, 2013

ศิลปะของการเลือกหุ้น – William O’Neil

ศิลปะของการเลือกหุ้น – William O’Neil

วิลเลียม โอนีล (William O’Neil) เป็นตัวอย่างของนักลงทุนผู้มองโลกในแง่ดี เป็นแฟนตัวยงและเชื่อมั่นในศักยภาพของระบบเศรษฐกิจอเมริกัน บิลกล่าวเสมอว่า “โอกาสอันเยี่ยมยอดเกิดขึ้นทุกปีในอเมริกา เมล็ดสนเล็ก ๆ สามารถเติบโตเป็นต้นสนขนาดใหญ่มหึมาได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ขอเพียงมีความมานะพยายาม ทำงานหนัก ความมุ่งมั่นของเราคือปัจจัยสำคัญที่สุดในความสำเร็จ เตรียมตัวให้พร้อมแล้วคว้าไว้ให้ได้”

โอนีลคือข้อพิสูจน์สิ่งที่เขา พูดเอง เขาเกิดในยุค great depression ที่รัฐโอกลาโฮมาและเติบโตขึ้นในรัฐเทกซัส เขาเริ่มอาชีพครั้งแรกด้วยการทำงานเป็นนักวิเคราะห์ในบริษัทหลักทรัพย์ในปี 1958 ณ บริษัทแห่งนี้ โอนีลเริ่มพัฒนาหลักการและแนวคิดของการลงทุน อันเป็นจุดเริ่มต้นของวิธี CANSLIM อันโด่งดัง ในระยะเวลาเพียง 2 ปี ระหว่างปี 1962-63 ผลตอบแทนของโอนีลสูงถึง 40 เท่า ในปีถัดมา บิล ลาออกจากที่ทำงานเพื่อตั้งบริษัท William O’Neil & Co เป็นบริษัทหลักทรัพย์ของตนเอง และทำหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์ให้กับลูกค้าสถาบัน โดยมีลูกค้าสถาบันกว่า 500 แห่ง ในปี 1983 โอนีลเปิดตัว Investor’s Daily หนังสือพิมพ์เพื่อการลงทุนสำหรับลูกค้าบุคคลเป็นครั้งแรก เพื่อนำเสนอข้อมูลของหุ้นอันประกอบด้วย EPS, relative strength และ trade volume ของหุ้นแต่ละตัว และอีก 5 ปีถัดมา เขาเขียนหนังสือชื่อ How to Make Money in Stocks ที่นักลงทุนแนวนี้ใช้เป็นรากฐาน และตำราอ้างอิงแห่งการลงทุน ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่โอนีลทำงานเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลผ่านสิ่งพิมพ์ ของเขา ผลตอบแทนในการลงทุนไม่ได้ถดถอยลงแต่อย่างใด โอนีลสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีได้ราว 40% ในช่วงระยะเวลาสิบปีหลังมาตลอด

ต่อไปจากนี้ เป็นการสรุปหลักการสำคัญที่ วิลเลียม โอนีล ให้ไว้ในการสัมภาษณ์กับ Jack Schwager ใน Market Wizards

1. โอนีลค้นพบแนวคิด ที่มาของ CANSLIM ในปี 1959 โดยศึกษาลักษณะการเลือกหุ้น และการลงทุนของ Jack Dreyfus ผ่าน Dreyfus fund ซึ่งทำผลตอบแทนได้เป็น 2 เท่าของผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนรวมอื่นในตลาด โอนีลค้นคว้ารายงานประจำไตรมาสของ Dreyfus fund และรายละเอียดของหุ้น และระยะเวลาที่กองทุนเข้าซื้อหุ้นกว่า 100 ตัว และนำมา plot ใน chart สิ่งที่โอนีลพบก็คือ หุ้นทุกตัวที่ Dreyfus fund เข้าซื้อ ล้วนแต่เป็นหุ้นที่ทำ new high

2. ดังนั้นแนวคิดแรกของโอนีลที่ได้เรียนรู้มาคือ การจะทำผลตอบแทนได้ดีนั้นไม่ได้เกิดจากการเข้าซื้อหุ้นที่ราคาต่ำ หรือใกล้ราคาต่ำที่สุด แต่เกิดจากการซื้อหุ้นที่ break out จาก broad base และกำลังทำ new high เมื่อเทียบกับ base นั้น เราพยายามหาหุ้นที่กำลังเริ่ม major move หรือ major trend ดังนั้นเราจะไม่นั่งแช่เสียเวลา 6 เดือน 9 เดือนกับหุ้นที่ไม่ไปไหน

3. หลังจากนั้น เขาพยายามศึกษาลักษณะของหุ้นที่เป็น big winner ทั้งหมดว่าหุ้นแต่ละตัวนั้นมีคุณลักษณะอะไรบ้างที่เหมือนกัน ก่อนที่จะกลายเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง จนเป็นที่มาของหลักการ CANSLIM

4. Current earning หุ้นที่มีผลตอบแทนดีที่สุด มักมีผลกำไรของไตรมาสล่าสุด เทียบ YOY เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 70% ก่อนที่หุ้นจะทำ major price advance ไม่มีเหตุผลอะไรที่หุ้นจะขึ้นได้มาก ถ้าผลกำไรของกิจการเท่าเดิมหรือแย่ลง โอนีลใช้เกณฑ์นี้เป็นข้อแรกในการเลือกหุ้นว่า หุ้นที่เขาจะเลือกจะต้องมีการเติบโตของผลกำไรไตรมาสล่าสุดอย่างน้อย 20-50% YOY

5. Annual earning การศึกษาย้อนหลังของโอนีล พบว่าหุ้นที่เป็น top performer จะมี 5Y CAGR ของ earning เฉลี่ย 24% ในอุดมคติ เราจึงควรเลือกหุ้นที่มี annual earning growth YOY ด้วย ซึ่ง IBD จะมีการคำนวณ EPS rank โดยคำนวณการเติบโตของ quarterly EPS 2 ไตรมาสล่าสุด ร่วมกับ annual EPS growth 5 ปีย้อนหลัง แล้วเรียงลำดับ percentile เทียบกับหุ้นทั้งตลาด

6. New สิ่งใหม่อาจเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่/บริการใหม่, ทีมผู้บริหารใหม่ หรือ อุตสาหกรรมกลุ่มใหม่ ข้อมูลของโอนีลพบว่า 95% ของหุ้นยอดเยี่ยม จะมีอะไรใหม่ในสามกลุ่มนี้ นอกจากนี้คำว่า new ยังหมายถึง new high price ด้วย เพราะ 98% ของนักลงทุนจะไม่ยอมซื้อหุ้นที่ทำ new high เป็นที่มาแห่งวาทะที่โอนีลมักกล่าวเสมอว่า “It is one of the great paradoxes of the stock market that what seems too high usually goes higher and what seems too low usually goes lower.”

7. Share outstanding (supply/demand) พบว่าหุ้นกว่า 95% ที่ได้ผลตอบแทนดีมาก มักเป็นหุ้นที่มีจำนวนหุ้นน้อยกว่า 25 ล้านหุ้นในช่วงที่มี performance ดีที่สุด ค่าเฉลี่ยของจำนวนหุ้นต่อกิจการอยู่ที่ 11.8 ล้านหุ้น

8. Leader or laggard ในช่วง 30 ปีย้อนหลัง พบว่าหุ้นที่ทำผลตอบแทนให้นักลงทุนได้ดีที่สุด 500 ตัวแรกจะมีค่า 12-month relative strength score (percentile) เท่ากับหรือมากกว่า 87 ก่อนจะมี major price move ดังนั้นหุ้นที่เลือกควรจะเป็นหุ้นนำตลาดเสมอ โดยโอนีลจะเลือกหุ้นที่มี RS rating มากกว่าหรือเท่ากับ 80

9. Institution เป็น demand ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของหุ้น ดังนั้นหุ้นที่มีความต้องการจากสถาบันจะเป็นหุ้นที่ขึ้นได้เร็วกว่า อย่างไรก็ดี หุ้นที่มีสถาบันถืออยู่มากเกินไปกลับไม่ใช่หุ้นดีเพราะจะกลายเป็นปัจจัยที่ ทำให้เกิดแรงขายอย่างแรง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีกับหุ้นตัวนั้น หรือตลาดโดยรวม

10. Market direction มีความสำคัญต่อการวิ่งของหุ้น เพราะหุ้น 3 ใน 4 จะมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดเสมอ

11. จากหลัก CANSLIM ทั้ง 7 ข้อ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จะมีหุ้นไม่เกิน 5% ที่เข้าเกณฑ์นี้ (โดยเฉลี่ยจะมีราว ๆ 2%) จะเห็นได้ว่าเกณฑ์นี้เข้มงวดมาก เพราะเราต้องการเลือกเฉพาะหุ้นที่ดีที่สุด

12. ในช่วงระยะเวลาที่โอนีลลงทุนมาด้วยหลักการนี้ winning rate ของเขาอยู่ที่ราว ๆ 2 ใน 3 (ถือว่าเยอะมาก) แต่มีหุ้นเพียง 10-20% ที่เป็น super performers

13. โอนีลจะไม่เข้าซื้อหุ้นที่เข้าเกณฑ์ตามหลักพื้นฐาน (คือ current และ annual earning) ถ้าหุ้นไม่เข้าตามเกณฑ์ RS rating และไม่มี breakout ไม่ซื้อที่ base หรือซื้อก่อนจะมี breakout เพราะหุ้นอาจไม่มี breakout เลยก็ได้ การลงทุนในหุ้นเรามีโอกาสจะซื้อเร็วไป หรือซื้อช้าไปได้เสมอ แนวคิดการซื้อที่ breakout คือการเข้าซื้อเมื่อเราอยู่ในจุดที่มีโอกาสขาดทุนน้อยที่สุด การซื้อที่ base หุ้นอาจมีการแกว่งตัวได้สูงถึง 10-15% ซึ่งเรามีโอกาสถูกเขย่าออกไปก่อนได้ ถ้าเราเข้าซื้อในจุดที่ถูกต้อง หุ้นจะมีโอกาสน้อยมากที่จะ correct ลงมาเกิน 7%

14. RS rating สูงมาก ๆ เช่น 99% ไม่ได้หมายความว่าหุ้นนี้ขึ้นไปสูงมาก และใกล้ดอยเสมอ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขสูง ๆ ของ rating แต่อยู่ที่ว่าราคาหุ้นได้ขึ้นไปสูงเกินว่า base มากหรือยัง (overextended price) โอนีลจะไม่ซื้อหุ้นที่ราคาพุ่งจาก base ไปเกิน 10%

15. การดูทิศทางตลาด เพื่อแยกระหว่าง market top กับ normal correction โอนีลบอกว่า market top เกิดขึ้นได้ 2 แบบเท่านั้นคือ แบบแรก ดัชนีทำ new high แต่ volume เบาบาง หรืออีกแบบคือ volume หนาแน่นหลาย ๆ วัน แต่ดัชนีไม่ค่อยไปไหน วิธีการดูทิศทางตลาดอีกแบบที่ดีคือ คอยสังเกต performance ของ leading stocks ถ้าพบว่าในขณะที่ตลาดเป็นกระทิง แต่หุ้นนำตลาดเริ่ม break down ไปทีละตัวสองตัว ถือเป็นสัญญาณของ market top ได้

16. ตัวชี้วัดอีกอย่างหนึ่งที่โอนีลกล่าวไว้คือ ให้ดู Fed fund rate ถ้า Fed ขึ้นดอกเบี้ย 2-3 หนแล้ว ตลาดที่เป็นกระทิงอยู่มักไม่ค่อยรอด

17. โอนีลไม่แนะนำให้นักลงทุนทั่วไป short หุ้นในช่วงตลาดหมี โอนีลเองทำกำไรจากการ short ในตลาดหมีได้เพียง 2 ใน 9 หน สัญญาณ short ที่ดีใน chart คือหุ้นที่ break out ใน 3rd หรือ 4th base แล้ว fail และจุด stop loss ของ short ก็เหมือนกันคือไม่เกิน 7%

18. ปรัชญาการเลือกหุ้นของโอนีลคือ หุ้นทุกตัวเลวหมด ไม่มีหุ้นดียกเว้นหุ้นจะมีราคาสูงขึ้น ถ้าซื้อแล้วหุ้นลง ต้อง cut loss เสมอ ความลับสำคัญของการเอาชนะตลาด ไม่ได้อยู่ที่การซื้อถูกเสมอ ในความเป็นจริงคุณถูกน้อยกว่าครึ่งก็สามารถเอาชนะตลาดได้ กุญแจสำคัญอยู่ที่การขาดทุนให้น้อยที่สุดเมื่อคุณผิด ถ้าซื้อแล้วขาดทุนเกิน 7% โอนีลจะขายหมดโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดยังเชื่อวลีที่ว่า ไม่ขาย ไม่ขาดทุน อยู่

19. เมื่อเข้าซื้อหุ้นแล้ว สิ่งที่ควรจำข้อแรกคือ เราควรถือหุ้นไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ราคาหุ้นยังมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ข้อสอง เราควรระลึกไว้เสมอว่าเป้าหมายของเราคือการทำกำไรในหุ้นตัวนั้นอย่างสมน้ำสม เนื้อ และเราไม่มีทางที่จะขายหุ้นได้ในราคาที่สูงที่สุด เป็นเรื่องที่ไร้สาระมากที่เราจะมานั่งเสียดายเมื่อหุ้นที่เราขายแล้วมีราคา สูงขึ้นไปอีก

20. สิ่งไร้สาระอีกอย่างที่เห็นประจำคือ การที่มีคนบอกว่าหุ้นตัวนี้ undervalued เพราะว่ามี P/E ต่ำ ข้อมูลของโอนีลบ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง return rate กับ P/E ของหุ้นที่เป็น best performers นั้นต่ำมาก ข้อมูลย้อนหลัง 33 ปีของโอนีลจากตลาดหุ้นอเมริกาพบว่า best performers มี P/E เฉลี่ย 20 ก่อนจะมี major move เทียบกับ P/E ของตลาดที่ 15 และในจุดที่สิ้นสุด major move หุ้นเหล่านี้มีค่า P/E เฉลี่ยที่ 45

21. หุ้นที่มี P/E ต่ำนั้นมีเหตุผลที่มันจะต่ำอยู่อย่างนั้น จึงไม่ควรจะซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเพียงเพราะว่ามันมีค่า P/E ต่ำ และไม่ควรขายหุ้นเพียงเพราะมันมี P/E สูง โอนีลยกตัวอย่างหุ้น Xerox ที่มีคนขายและ short ที่ราคา $88 เพราะว่ามันมีค่า P/E 50 ผลปรากฏว่าหุ้นตัวนี้วิ่งไปถึง $1,300 (หลังปรับจาก stock split)

22. นอกจาก P/E แล้ว ผลตอบแทนของหุ้นก็ไม่มีความสัมพันธ์กับอัตราเงินปันผลด้วย

23. โอนีลไม่สนใจ overbought/oversold indicators เลย ประสบการณ์ของเขาบอกว่าเครื่องชี้วัดเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อะไร

24. การกระจายความเสี่ยง (diversification) คือ hedge of ignorance การเลือกหุ้นไม่กี่ตัวที่สุดยอด และเรารู้จักมันอย่างดี มีความเสี่ยงน้อยกว่า และมีโอกาสได้ผลตอบแทนดีกว่ามาก จำนวนหุ้นที่ควรถือ ขึ้นกับขนาดของพอร์ต ถ้าขนาด 2 แสนบาท ควรถือ 1-2 ตัว, 4 แสนบาท ควรถือ 3-4 ตัว, 1 ล้านบาท ควรถือ 4-5 ตัว, 2 ล้านบาท ควรถือ 5-6 ตัว และ 4 ล้านบาทขึ้นไปควรถือ 6-7 ตัว (อันนี้ปี 1989 นะ ถ้าตอนนี้อาจจะต้องเพิ่มขนาดพอร์ตแต่ละขั้น 2-3 เท่า)

25. สิ่งหนึ่งที่โอนีลเห็นว่าเป็นความเชื่อที่ผิด คือ ความเชื่อที่ว่า stock chart เป็นเรื่องไม่ต่างกับไสยศาสตร์ หาเหตุผลไม่ได้ โอนีลกล่าวว่า นักลงทุนในตลาดเพียง 5-10% ที่เข้าใจเรื่องนี้จริง (คนที่ใช้มัน ส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ) เพราะ stock chart แสดงข้อมูลที่เกิดขึ้นกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต่างกับแพทย์ที่อ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ในการติดตามผู้ป่วย

26. Volume ของหุ้นใช้ในการดู supply และ demand ของหุ้นตัวนั้น การเพิ่มขึ้นของ volume สำคัญมากในการเริ่มต้นของ price movement และในช่วง consolidation ที่ดีควรมี volume dry-up

27. การเกิด losing streak ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะความผิดพลาดของเราเอง โดยทั่วไปจะเป็นเครื่องเตือนว่าตลาดกำลังแย่ ถ้าเรามี losing streak 6-7 หน เราควรหยุดแล้วออกมาดูข้างสนามเสียก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดโดยรวม

28. จากหลักการของ CANSLIM ที่โอนีลใช้มาตลอดนั้น โอนีลย้ำว่าใช้ได้กับการลงทุนหุ้นรายตัวเท่านั้น โอนีลเชื่อว่าทุกคนควรมีบ้าน, อสังหาริมทรัพย์ และลงทุนในหุ้น หรือลงทุนในกองทุนรวม กองทุนรวมถือเป็นการลงทุนที่ดีมากในระยะยาว ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจมัน หัวใจแห่งความสำเร็จในการลงทุนผ่านกองทุนรวมคือลงทุนแล้วนั่งเฉย ๆ ไม่ต้องไปคิด เมื่อตั้งเป้าลงทุนผ่านกองทุนแล้ว เป้าหมายของเราคือเราจะลงทุน 10 ปี 15 ปี หรือนานกว่านั้น นั่นคือหัวใจสำคัญของการได้ผลตอบแทนที่ดีจากกองทุนรวม และการจะทำเช่นนั้นได้หมายความว่าเราต้องผ่านภาวะตลาดแย่ ๆ 3-4-5 ครั้ง กองทุนรวมที่ดีมักให้ผลตอบแทนดีเลิศ (เช่น 70-100%) ในช่วงตลาดกระทิง และอาจติดลบ 15-20% ในช่วงตลาดหมี

29. สำหรับหุ้นรายตัว เราอาจได้ผลตอบแทนสุดยอดหลายเท่า หลายสิบเท่า หรือหลายร้อยเท่า ในทางกลับกัน หุ้นตัวหนึ่งอาจลดมูลค่าลง 80-90-99% ได้ ซึ่งถ้าเราถือหุ้นตัวนั้นอยู่เราอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้เท่า เดิมได้อีกเลย แต่การลงทุนในกองทุนรวมนั้นต่างกัน กองทุนเหล่านี้มีการกระจายหุ้นที่ถืออยู่เป็นจำนวนมาก หลากหลายกลุ่มซึ่งถือเป็นตัวแทนของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ เมื่อเศรษฐกิจผ่านช่วงเวลาเลวร้าย และฟื้นตัวมาได้ กองทุนเหล่านี้ควรฟื้นตัวมาด้วย ความผิดพลาดที่เราเห็นประจำคือ นักลงทุนไม่น้อยเกิดความหวาดกลัวตัดสินใจถอนเงินออกมา และทำลายผลตอบแทนของตนเองลง ทั้งที่อันที่จริงแล้ว นักลงทุนควรซื้อเพิ่มในช่วงนั้น

30. โอนีลไม่เชื่อใน EMT และ random walk theory เพราะตลาดหุ้นไม่ได้มีประสิทธิภาพหรือ random ตลอดเวลา

31. ความสำเร็จของการลงทุนของโอนีล อาศัยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ กระบวนการคัดเลือกหุ้นและการเข้าซื้อที่ดี, การจำกัดความเสี่ยง และวินัยที่จะยึดมั่นกับปัจจัย 2 ข้อแรก
 

No comments:

Post a Comment