Saturday, March 9, 2013

สงครามโลก สงครามค่าเงิน

สงครามโลก สงครามค่าเงิน

ในช่วงปลายปี 2012 ต่อมายังต้นปี 2013 ความกังวลเรื่องของสงครามกลับมาปกคลุมทั่วโลกอีกครั้ง แต่สงครามในที่นี้ ไม่ใช่สงครามที่ใช้อาวุธห้ำหั่นทำลายล้าง หากแต่เป็น "สงครามค่าเงิน" ที่น่ากังวลว่าหากเกิดขึ้นจริง ความสูญเสีย...ในแง่เศรษฐกิจอาจมากมายมหาศาล และต้องใช้เวลานานหลายปีในการเยียวยาฟื้นฟู

สงครามค่าเงินคืออะไร

สงครามค่าเงินหรือ Currency War คือภาวะที่ประเทศต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด มีการค้าขายซื้อหาสินค้าระหว่างกัน ต่างพยายามที่จะแข่งขันกัน "ลดค่าเงิน" ของตนเองให้อ่อนค่าลงมาเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ด้วยมุ่งหวังว่าค่าเงินของตนเองที่ถูกลง การส่งออกก็จะมากขึ้น และในทางกลับกัน สินค้านำเข้าจะมีราคาแพงขึ้น ผู้คนก็จะลดการนำเข้าสินค้าลง และหันมาบริโภคสินค้าภายในประเทศแทน ซึ่งบรรดาธุรกิจในประเทศ ตลอดจนการจ้างงาน ก็น่าจะดีขึ้น

แต่ในความเป็นจริง สงครามค่าเงินอาจไม่ก่อให้เกิดผลดีอย่างที่กล่าวมา นั่นก็เพราะเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง จงใจทำการลดค่าเงินของตนเองลงให้ผิดเพี้ยนไปจากภาวะสมดุลที่เกิดขึ้น ประเทศนั้นอาจมีการส่งออกที่ดีขึ้นในระยะแรกๆ แต่กลับทำให้ประเทศอื่นมีการส่งออกที่ลดลง มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นซึ่งประเทศอื่นๆ นั้นอาจเลือกตอบโต้ภาวะไม่สมดุลนี้ด้วยการลดค่าเงินของตนเองลงมาบ้าง และเมื่อระบบการค้าโลกมีประเทศจำนวนมากมาย มีค่าเงินหลากหลายสกุล แต่ละฝ่ายก็พยายามลดค่าเงินของตนเองเพื่อใช้สู้กัน ห้ำหั่นกัน สุดท้ายแล้ว ปริมาณการค้าโดยรวมของทั้งโลกจะลดลงเป็นอย่างมาก และได้รับผลกระทบเชิงลบกันหมด เรียกได้ว่าไม่มีใครชนะเลย

นอกจากนี้ สงครามค่าเงินยังมีผลเสียอีกมาก เช่น การทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อค่าเงินของตนเองตกต่ำลง สินค้าที่นำเข้าย่อมแพงขึ้น และสินค้าบางอย่างเช่นพลังงาน บางประเทศก็ผลิตไม่ได้ต้องนำเข้าเท่านั้นเงินเฟ้อก็จะพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว และถ้าหากบริษัทไปกู้เงินต่างประเทศเอาไว้ จำนวนหนี้สินย่อมเพิ่มพูนตามอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง

นั่นคือความน่ากลัวของสงครามนี้ เป็นสงครามที่สุดท้าย ทุกฝ่ายจะสูญเสียเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ในสงคราม แต่ทุกคนคือผู้แพ้ในทางเศรษฐกิจ

สงครามค่าเงินในอดีต

ในอดีตนั้นเคยเกิดสงครามค่าเงินมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก คือ ช่วงทศวรรษที่ 1930 ในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกหรือ Great Depression ที่ในตอนนั้น อัตราแลกเปลี่ยนที่เคยใช้คือการอิงกับทองคำถูกยกเลิก และประเทศส่วนใหญ่ในโลก ต่างหันมาใช้การลดค่าเงินของตัวเองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสุดท้าย การค้าขายทั่วโลกก็ลดต่ำลงเป็นอย่างมาก เพราะค่าเงินในแทบทุกสกุลอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครอยากซื้อหาสินค้าของกันและกัน เพราะพรุ่งนี้ ราคาสินค้าอาจถูกลงได้อีกมากจากค่าเงินที่ลดลงนั่นเอง

ความกังวลเกี่ยวกับสงครามค่าเงินในปัจจุบัน

นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2010 เป็นต้นมา ความกังวลเรื่องสงครามค่าเงินกลับมาอีกครั้ง โดยในเดือนกันยายนปี 2010 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศบราซิลที่ชื่อว่าคุณ กุยโด้ แมนเตก้า ได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่าเขามีความกังวลเป็นอย่างมากว่าโลกกำลังจะเกิดสงครามค่าเงินขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้มาตรการ QE ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มกังวลตามว่าการเพิ่มปริมาณเงินในระบบมากๆ คือการพยายามที่จะลดค่าเงินของตนเองหรือไม่ หลังจากนั้น ในช่วงระหว่างปี 2010 ถึง 2011 สหรัฐฯ ก็โจมตีจีนโดยตลอดว่าได้ทำให้เงินหยวนของตนเองมีค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ เริ่มมองว่าค่าเงินคืออุปสรรคและข้อจำกัดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเอง

สงครามค่าเงิน 2013

สำหรับความกังวลเกี่ยวกับสงครามค่าเงินในรอบล่าสุดนั้น เริ่มตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศอย่างชัดเจนที่จะใช้นโยบายการเงินผ่านการซื้อพันธบัตรแบบจำนวนไม่จำกัด ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลจากนโยบายของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ ประธานธนาคารกลางตลอดจนรัฐมนตรีคลังของหลายประเทศออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าการกระทำครั้งนี้ อาจเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดสงครามค่าเงินขึ้นก็เป็นได้

คนแรกที่ออกมาพูดถึงในประเด็นนี้คือคุณ อเล็กซี่ อุลยูคาเยฟ รองประธานธนาคารกลางรัสเซีย หลังจากนั้นก็มีอีกหลายคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็นคุณ พัค แจวาน รัฐมนตรีคลังของเกาหลีใต้ คุณเยนส์ เวียดมานน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมันหรือบุนเดสแบงก์ ซึ่งคุณเวียดมานน์บอกว่าอย่างชัดเจนว่าเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมายังไม่รุนแรงพอที่จะเรียกว่าเป็นการแข่งขันกันลดค่าเงินได้ แต่หลังจากนโยบายของญี่ปุ่น โอกาสของการเกิดสงครามค่าเงิน ถือว่าเป็นไปได้ ขณะที่นายกของเยอรมันอย่างคุณแองเจล่า แมร์เคิล และประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขาเซ็นหลุยส์ อย่างคุณเจมส์ บุลลาร์ดต่างก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งของญี่ปุ่น ก็พยายามชี้จุดยืนที่แตกต่างกันออกไป โดยคุณอากิระ เอมาริ รัญมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่นบอกว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น มีขึ้นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืด ไม่ได้มี เจตนาที่จะลดค่าเงิน

แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์สถานการณ์กลับเริ่มเข้มข้นขึ้น หลังจากที่ประธานกลางยุโรป คุณมาริโอ ดรากี ออกมาบอกว่าธนาคารกลางยุโรป อาจต้องทำอะไรบางอย่าง หากค่าเงินสกุลยูโรยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบกับเงินสกุลเยน ซึ่งการออกมาพูดในลักษณะนี้ ก็ทำค่าเงินสกุลยูโร อ่อนค่าลงทันที ก่อนที่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จะมีถ้อยแถลงร่วมกันออกมาจากที่ประชุมกลุ่มประเทศ G7 ว่าประเทศสมาชิกทุกรายเห็นพ้องต้องกันว่าจะหลีกเลี่ยงภาวะสงครามค่าเงินให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติ กลับไม่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายของญี่ปุ่นมากนัก ทำให้ยิ่งเกิดความกังวลขึ้นอีกว่า หากญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายการเงินของตนเองต่อไป สงครามค่าเงิน อาจเกิดขึ้นในท้ายที่สุด

เพราะเมื่อค่าเงินสกุลหนึ่งอ่อนลง สกุลอื่นๆ ก็แข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ ทำให้มีการยืนยันว่าในเดือนมกราคมปี 2013 นี้ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ชิลี และสวีเดน คือประเทศที่ทำการแทรกแซงค่าเงินของตนเองมากที่สุด หลังค่าเงินของพวกเขาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยสรุปแล้ว จนถึงเวลานี้ก็ยากที่จะบอกด้ว่าสงครามค่าเงินจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพียงแต่หลายประเทศ ก็พยายามออกมาตัดไฟแต่ต้นลม และแน่นอน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวเช่นนี้ หากต้องเกิดสงครามค่าเงินขึ้นจริง คงปั่นป่วนเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากสงครามต้องเกิดขึ้นจริง คงไม่มีใครอยากมาเป็นคนที่ปรับตัวเป็นคนท้ายๆ เนื่องจากจะมีเสียกับเสีย และความกลัวที่จะต้องเป็นคนท้ายๆ ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดสงคราม แต่เมื่อพูดถึงสงครามค่าเงิน หากใครคิดจะเริ่มต้นด้วยการใช้ค่าเงินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงก่อนคนอื่น ก็คงเป็นดังเช่นที่ฟรานเชสโก้ เกวเรอร่า คอมลัมนิสต์ของวอลสตรีทเจอร์นัลเปรียบเทียบไว้ว่า "สงครามค่าเงินก็เหมือนการฉี่รดบนที่นอน ในช่วงแรกๆอาจสบาย แต่หลังจากนั้นจะมีแต่ความยุ่งเหยิง

ผู้เขียน : เฉลิมพร ตันติกาญจนากุล

ที่มา : วารสาร Money & Wealth ฉบับเดือน มีนาคม 2556

No comments:

Post a Comment