ทำไม เจ้าของธุรกิจ ถึงชอบตั้งบริษัท มาถือหุ้นแทนตัวเอง | MONEY LAB
https://www.facebook.com/moneylabstory
ถ้าใครเคยดูรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะเห็นว่าโดยปกติแล้ว บริษัทจะมีชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นชื่อ และนามสกุล ของเจ้าของจริง ๆ
แต่หลายครั้ง เราก็จะพบว่า หลายบริษัทจะมีบริษัทอีกแห่งหนึ่งที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 อีกที
บริษัทเหล่านี้มักจะถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ โดยเฉพาะ เราเรียกบริษัทแบบนี้ว่า “บริษัทโฮลดิง”
แล้วข้อดีของการทำแบบนี้คืออะไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
เคยมีคำกล่าวว่า 2 สิ่งที่มนุษย์เราไม่สามารถหนีพ้นได้ คือ ความตายและภาษี
นักธุรกิจที่ชาญฉลาดจึงต้องมีการวางแผนรับมือกับ 2 สิ่งนี้ให้ดี ทั้งเรื่องการส่งต่อมรดก และการบริหารภาษี
ดังนั้น การจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในอาณาจักรธุรกิจของตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจครอบครัว
วิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็คือ การจัดตั้งบริษัทโฮลดิงขึ้นมา เพื่อถือหุ้นแทนสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว
ข้อดีของวิธีนี้ในแง่ของการวางแผนส่งต่อมรดกก็คือ เป็นการป้องกันให้อำนาจควบคุมภายในบริษัทยังอยู่กับครอบครัวเจ้าของธุรกิจ
เพราะถ้าให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวถือหุ้นในนามส่วนตัว แล้วเกิดมีปัญหาขัดแย้งกันภายในครอบครัวขึ้นมา มีความเป็นไปได้ว่า สมาชิกบางคนอาจขายหุ้นของตัวเองให้กับบุคคลภายนอกบริษัท
โดยเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นกับบริษัท SM เจ้าของค่ายเพลงชื่อดังในเกาหลีใต้มาแล้ว ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว นำไปสู่การขายหุ้นให้บุคคลภายนอก จนเข้ามามีอำนาจควบคุมบริษัท
สำหรับตัวอย่างของธุรกิจครอบครัว ที่มีการวางแผนเพื่อสืบทอดธุรกิจให้ทายาทในครอบครัวแบบนี้คือ บริษัท LVMH เจ้าของสินค้าแบรนด์หรูระดับโลก
เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของ LVMH จัดตั้งบริษัทโฮลดิง ชื่อ Agache Commandite SAS ขึ้นมาถือหุ้น LVMH เพื่อรักษาอำนาจการควบคุมบริษัท LVMH ไว้
โดยเขาแบ่งสัดส่วนหุ้นของบริษัท Agache Commandite SAS ให้ทายาทของเขาอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามมีการขายหุ้นบริษัทโฮลดิงให้แก่บุคคลภายนอก
สำหรับในประเทศไทยเอง ก็มีการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในลักษณะนี้ เช่น เครือเซ็นทรัล, เครือซีพี, เครือไทยเบฟ หรือกัลฟ์ เป็นต้น
นอกจากเรื่องการวางแผนส่งต่อมรดกแล้ว การจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นแบบนี้ ยังมีประโยชน์ในแง่ของการวางแผนภาษีอีกด้วย
เพราะตามกฎหมายประเทศไทยแล้ว ถ้าบุคคลธรรมดาขายหุ้นของบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น จะไม่ต้องเสียภาษี
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราขายหุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้น จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีอัตราสูงสุด 35%
ดังนั้น หากเราต้องขายหุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้น การตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อถือหุ้นแทนเรา จะช่วยประหยัดภาษีให้เราได้อย่างมาก
เพราะอัตราภาษีนิติบุคคลของไทยในปัจจุบัน อยู่ที่เพียง 20%
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราจัดตั้งบริษัทในเขตปลอดภาษี เช่น ฮ่องกง แล้วโอนเงินกลับมาในปีถัดไป ก็แทบจะไม่ต้องเสียภาษีเลย
แต่ในอนาคตการเลี่ยงภาษีแบบนี้ก็อาจจะลำบากมากขึ้น เพราะล่าสุดกรมสรรพากรมีการปรับกฎเกณฑ์ในการเก็บภาษีจากรายได้ที่โอนมาจากต่างประเทศใหม่
จากเดิม ถ้าเราโอนเงินกลับมาในปีภาษีถัดไป หลังจากมีรายได้เกิดขึ้น เราจะไม่ต้องเสียภาษี
ด้วยกฎเกณฑ์ใหม่ กลายเป็นว่าเราต้องเสียภาษี ไม่ว่าเราจะโอนเงินกลับมาปีไหนก็ตาม
แต่ถึงอย่างนั้น การตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อถือหุ้นแทนเรา ก็ยังช่วยประหยัดภาษีได้มากอยู่ดี
เพราะเงินปันผลที่จ่ายเข้าบริษัทโฮลดิง จะได้รับการยกเว้นภาษี ในกรณีที่มีองค์ประกอบครบ 3 ส่วน คือ
- เป็นบริษัทที่ บริษัทโฮลดิงถือหุ้นไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง
- บริษัทโฮลดิงและบริษัทย่อย ไม่ถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน
- บริษัทโฮลดิงถือหุ้นก่อนและหลังจ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 3 เดือน
ในขณะที่ บุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% หากได้รับเงินปันผล
ทั้งหมดนี้ก็คือ เทคนิคการส่งต่อความมั่งคั่ง และการวางแผนภาษีของเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เราสามารถพบเห็นได้ในตลาดหุ้น
จะเห็นได้ว่าเทคนิคเหล่านี้ เป็นการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย เมื่อใดก็ตามที่กฎเกณฑ์เปลี่ยน เราทุกคนก็ย่อมต้องปรับตัวตามกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป..
No comments:
Post a Comment