สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยแรงสุด รอบ 30 ปี ทำไมบางประเทศไม่ปรับขึ้นตาม /โดย ลงทุนแมน
นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ
- เดือนมีนาคม ปี 2565 ดอกเบี้ย 0.5%
- เดือนกันยายน ปี 2566 ดอกเบี้ย 5.5%..
ผ่านไปหนึ่งปีเศษ ดอกเบี้ยนโยบายของประเทศมหาอำนาจของโลก เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า เม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก ไหลไปยังสหรัฐอเมริกา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจึงแข็งค่าต่อสกุลเงินอื่น
ธนาคารกลางของหลายประเทศ จึงต้องเริ่มเคลื่อนไหว เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน หลายประเทศจึงปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น แต่ก็มีบางประเทศ เช่น จีน กลับปรับอัตราดอกเบี้ยลง
ทำไมแต่ละประเทศ จึงมีวิธีไม่เหมือนกัน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
การที่แต่ละประเทศ เลือกดำเนินนโยบายทางการเงินที่แตกต่างกันนี้
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่า ข้อจำกัดจากทฤษฎี “Impossible Trinity” หรือสามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้
โดยปกติแล้ว ในการปรับนโยบายทางการเงิน ธนาคารกลาง หรือรัฐบาลของประเทศแต่ละประเทศ
มักจะยึดหลัก Impossible Trinity ซึ่งเป็นทฤษฎีที่กล่าวว่า ประเทศหนึ่ง ๆ จะสามารถเลือกใช้นโยบายทางเศรษฐศาสตร์ได้เพียง 2 อย่าง จาก 3 นโยบาย ดังนี้
1. การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือการตรึงค่าเงิน
2. การอนุญาตให้เคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี
3. การกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
กรณีแรก เลือกที่จะตรึงค่าเงินของตัวเอง คู่กับ การอนุญาตให้เคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี โดย ไม่สามารถกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระได้
ยกตัวอย่างประเทศที่ใช้แนวทางนี้ เช่น ฮ่องกง ซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ ซึ่งตรึงไว้ที่ประมาณ 7.8 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งฮ่องกงไม่สามารถมีนโยบายการเงินของตัวเองได้ เช่นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของฮ่องกง อยู่ที่ 5.75% ซึ่งใกล้เคียงกับของสหรัฐอเมริกา ที่ 5.5%
ประเทศที่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี คู่กับ การตรึงค่าเงิน มักเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน อย่างฮ่องกงและสิงคโปร์
ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีการพึ่งพาการค้าและการลงทุน
รวมถึงมีรายได้จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกสูงมาก
กรณีที่ 2 คือ การอนุญาตให้เคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี
คู่กับ ประเทศที่เลือกกำหนดนโยบายการเงินอย่างอิสระ
โดยประเทศในกลุ่มนี้ อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกาบ้างเล็กน้อย
เพื่อไม่ให้ความผันผวนของค่าเงิน มาส่งผลกระทบ ต่อการนำเข้า-การส่งออก มากจนเกินไป
ยกตัวอย่างประเทศที่ใช้แนวทางนี้ เช่น ประเทศไทย
ซึ่งล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่ 2.5% ซึ่งก็ยังถือว่าห่างไกลกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ที่ 5.5%
จะเห็นว่า นโยบายการเงินของประเทศในกลุ่มนี้
จะมีความยืดหยุ่นกว่ากลุ่มแรก
คือไม่มีความจำเป็นต้องตรึงค่าเงินมากนัก เพราะมีอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวนั่นเอง
ทำให้สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ย ได้ค่อนข้างอิสระ
กรณีที่ 3 คือ เลือกกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ คู่กับ สามารถกำหนดนโยบายการเงินได้อย่างอิสระ
ตัวอย่างประเทศที่เลือกใช้แนวทางนี้ เช่น ประเทศจีน
ซึ่งที่ผ่านมา แม้อัตราดอกเบี้ยในหลาย ๆ ประเทศจะสูงขึ้น ในทางกลับกัน จีนกลับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในขณะเดียวกัน จีนก็สามารถที่จะประกาศลดค่าเงิน หรือทำให้เงินแข็งค่าขึ้นได้ โดยใช้กลไกของเงินทุนสำรองที่มีอยู่อย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม จีนจำเป็นต้องควบคุมการไหลเข้าและออก ของกระแสเงินทุนอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านค่าเงิน เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงพอสรุปกันได้แล้วว่า
สาเหตุที่แต่ละประเทศ เลือกใช้แนวทางการรับมือที่แตกต่างกัน
นั่นเป็นเพราะว่า แต่ละประเทศมีเป้าหมาย และโครงสร้างทางเศรษฐกิจต่างกัน
ดังนั้น เงื่อนไขและแนวทาง ที่ใช้ในการรับมือจึงแตกต่างกัน
ซึ่งเรื่องนี้ สามารถเชื่อมโยงกับหลักการ Impossible Trinity ได้ ตามที่อธิบายไป
ทั้งนี้ หากประเทศใด เลือกที่จะใช้ทั้ง 3 นโยบายของ Impossible Trinity ไปพร้อม ๆ กัน ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่าง วิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 นั่นเอง..