Russia vs Ukraine
โลกในมุมมองของ Value Investor 26 กุมภาพันธ์ 65
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เดจาวู World War Two
สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นทำให้ผมหวนระลึกถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สองที่เริ่มขึ้นในยุโรปในปี 1939 หรือประมาณ 83 ปีมาแล้ว เพราะมันมีอะไรคล้ายกันอย่างบอกไม่ถูก เพียงแต่ว่าคู่กรณี ทั้งเรื่องของประเทศและตัวผู้นำที่ก่อสงครามนั้นมีการสลับสับเปลี่ยนไป ผมจะเล่าเรื่องของสงครามโลกครั้งที่สองก่อน
เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งจบลงในปี 1919 และมีการเซ็นสัญญาแวร์ซายซึ่งบีบบังคับเยอรมันในฐานะผู้แพ้สงครามมาก ซึ่งทำให้คนเยอรมัน “เจ็บแค้นมาก” เฉพาะอย่างยิ่งฮิตเลอร์ซึ่งเคยเป็นทหารผ่านศึกและต่อมานำพรรคนาซี “ชนะเลือกตั้ง” และได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1933 และเมื่อได้อำนาจมาแล้ว เขาก็เริ่มใช้อำนาจ “เผด็จการ” ยุบพรรคการเมืองอื่นทั้งหมดและประกาศถอนตัวจากสันนิบาตชาติซึ่งคล้าย ๆ กับสหประชาชาติในวันนี้ ความคิดของฮิตเลอร์ก็คือ เขาจะนำเยอรมันกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมและเป็น “อาณาจักรไร้ช์ที่ 3” ที่จะยิ่งใหญ่ “ชั่วฟ้าดินสลาย” และการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งแรกนั้นเป็นเพราะมีคนที่ทรยศ “แทงข้างหลัง” โดยเฉพาะคนยิวซึ่งจะต้องถูกกำจัด
ถึงปี 1934 ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กเสียชีวิต ฮิตเลอร์ก็ยุบตำแหน่งประธานาธิบดีรวมกับนายกและแต่งตั้งตัวเองเป็นฟูเรอร์หรือ “ผู้นำสูงสุด” พอถึงปี 1935 ก็ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายทิ้งและเริ่มเกณฑ์ทหารและขยายกองทัพขนานใหญ่ ทั้งหมดนี้ประเทศผู้ชนะสงครามเช่นอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็ไม่กล้าทำอะไรเพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดสงครามกับเยอรมันอีก พวกเขาต่างก็ไม่พร้อมและไม่อยากจะต้องเจอกับสงครามอีกครั้ง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ประเทศมีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่จะต้องฟังเสียงประชาชนที่ต่างก็ไม่เห็นด้วยที่จะทำสงครามโดยที่ไม่มีเหตุผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศของตนเอง นอกจากนั้น ก็มักจะไม่มีงบประมาณทางทหารมากพอ ไม่ต้องพูดถึงกำลังทหารที่มีจำกัดเนื่องจากไม่สามารถที่จะเกณฑ์ทหารได้ในยามที่ประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม
ถึงปี 1938 เมื่อทุกอย่างดูเหมือนว่าจะพร้อมแล้ว ฮิตเลอร์ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นคนสัญชาติออสเตรียมาก่อนก็ส่งทหารบุกยึดประเทศออสเตรียและประกาศรวมออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน โดยที่คนออสเตรียเองนั้น เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดและส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเยอรมันและพูดภาษาเยอรมันก็ยินดี และนั่นนำมาสู่การเข้ายึดครอง “Sudetenland” ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนเหนือของประเทศเช็คโกสโลวาเกียในขณะนั้นที่อยู่ติดกับชายแดนเยอรมัน
เช็กโกสโลวาเกียเป็นประเทศที่เกิดขึ้นในปี 1918 จากการล่มสลายของอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งก็มีคนเยอรมันจำนวนมากถึงประมาณ 23% และโดยเฉพาะในเขตซูเดเตนนั้น คนส่วนใหญ่ก็เป็นเยอรมันซึ่งนั่นทำให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในเขตนี้มีความโน้มเอียงที่จะเข้ากับฮิตเลอร์ มีการเรียกร้องที่จะเป็นอิสระในการปกครองตนเองซึ่งรัฐบาลของเช็กโกเองก็พยายามจะเจรจากับเยอรมันเพื่อแก้ปัญหาแต่ก็ไม่สำเร็จ ในอีกด้านหนึ่ง อังกฤษและฝรั่งเศสได้เข้ามาเจรจากับเยอรมันที่เมืองมิวนิคเมื่อสถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม อังกฤษและฝรั่งเศสต้อง “เอาใจ” เยอรมัน โดยนายกรัฐมนตรีแชมเบอร์เลนของอังกฤษให้ความเห็นว่าคนเยอรมันในซูเดเตนนั้น “น่าเห็นใจและยากลำบากจริง” และแนะนำให้เช็กโกยอมตามความต้องการของเยอรมัน แชมเบอร์เลนเองเชื่อว่าฮิตเลอร์คงต้องการแค่นั้น แต่จริง ๆ ฮิตเลอร์ต้องการมากกว่า
ถึงต้นปี 1939 เยอรมันก็บุกเข้ายึดเช็กโกทั้งประเทศ หลังจากนั้นก็เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับอิตาลีและรัสเซีย ถึงตอนนี้ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสก็เริ่มรู้แล้วว่าที่คิดไว้ว่าเยอรมันจะไม่บุกต่อนั้นผิดหมด จึงเซ็นสัญญากับโปแลนด์ค้ำประกันความเป็นอิสระและจะช่วยเหลือหากถูกรุกรานจากประเทศอื่น และก็เริ่มเตรียมตัวรับสงครามที่ดูเหมือนว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันที่ 1 กันยายน 1939 เยอรมันก็บุกโปแลนด์ อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมัน นับเป็นวันที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ
**** Russia vs Ukraine Part *****
สหภาพโซเวียตรัสเซียเกิดขึ้นหลังจากพรรคบอลเชอวิคหรือพรรคคอมมิวนิสต์โค่นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และขึ้นสู่อำนาจในปี 1922 โดยมียูเครนเป็นหนึ่งในรัฐผู้ก่อตั้ง หลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายชนะสงครามและก็เริ่มสร้าง “ความยิ่งใหญ่” และกลายเป็น ซุปเปอร์เพาเวอร์ควบคู่กับสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นคู่แข่งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองคือเป็นสังคมนิยมและเผด็จการที่เผยแพร่ไปทั่วโลกมากพอ ๆ กับอุดมการณ์ทุนนิยมและประชาธิปไตยที่นำโดยอเมริกา การแข่งขันในช่วงหนึ่งโดยเฉพาะในปี 1961 ที่ยูริ กาการิน บินขึ้นสู่อวกาศเป็นคนแรกของโลกนั้น ความรู้สึกก็คือ โซเวียตรัสเซียกำลังจะกลายเป็น “สุดยอดของโลก” อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นสหภาพโซเวียตรัสเซียก็เริ่มสะดุด ระบอบสังคมนิยมเริ่มจะเสื่อมถอย อาจจะเพราะคนขาดแรงจูงใจในการทำงานรวมถึงไม่กล้าที่จะคิดสร้างสรรค์ที่อาจจะขัดกับ “รัฐ” ที่ควบคุมความคิดของคนในประเทศ
ถึงปี 1991 สหภาพโซเวียตก็ “ล่มสลาย” รัฐอิสระใหม่ ๆ กว่า 10 ประเทศเกิดขึ้นรวมถึงรัฐใหญ่เช่นยูเครน สหภาพโซเวียตที่มีประชากรเกือบ 300 ล้านคนซึ่งมากกว่าสหรัฐที่มี 250 ล้านคน ลดเหลือเพียงครึ่งเดียวคือประมาณ 150 ล้านคนที่เป็นคนของประเทศรัสเซีย และก็แทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยหลังจากนั้นจนถึงวันนี้ ขณะที่ยูเครนก็มีประชากรประมาณ 50 ล้านคนและก็อยู่ในระดับใกล้เคียงจนถึงปัจจุบัน ส่วนอเมริกากลับมีคนเพิ่มขึ้นเป็น 330 ล้านคนในปัจจุบัน ความยิ่งใหญ่ของรัสเซียนั้น ถ้าว่ากันทางเศรษฐกิจแล้วก็ต้องพูดว่าหมดไปแล้วเพราะอยู่ในอันดับ 12 ของโลกรองจากเกาหลีใต้และมีขนาดเพียง 7.5% ของ GDP ของสหรัฐ และถ้าไม่ใช่เป็นเพราะว่ารัสเซียยังมีหัวรบนิวเคลียร์จำนวนมหาศาลในคลัง ความเป็น “มหาอำนาจ” ก็น่าจะหมดไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียวันนี้อายุ 70 ปีแล้ว วันที่สหภาพโซเวียตล่มสลายเขามีอายุ 39 ปี ในวันนั้นเขาเป็น KGB หรือเป็น “สายลับ” ในต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าคนที่ทำงานแบบนี้ในประเทศสังคมนิยมที่เป็นอภิมหาอำนาจในยุค “สงครามเย็น” นั้น ย่อม “ไม่ธรรมดา” ต่อมาเขาก็เข้าเล่นการเมืองและได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2000 จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 22 ปีแล้วที่เขาอยู่ในอำนาจ ถ้าพูดถึงความนิยมในหมู่คนรัสเซียนั้น ก็ต้องถือว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่วิธีที่ใช้ในการปกครองของเขานั้น วัดโดย “มาตรฐานสากล” ก็ต้องถือว่าเป็นแบบ “เผด็จการ” เพราะมีการปิดกั้นเสรีภาพในด้านข่าวสาร การจับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง การเลือกตั้งไม่โปร่งใส เป็นต้น
ปูตินน่าจะมีความรู้สึกเคียดแค้นต่อคนอย่างอดีตประธานาธิบดีกอร์บาช็อบที่ทำการปฎิรูประบบการปกครองต่าง ๆ และเน้นในเรื่องการเปิดกว้างของสังคม ความโปร่งใสและสิทธิเสรีภาพรวมถึงความเป็นประชาธิปไตยที่เรียกว่า “Glasnost” ในช่วงปี 1986-1991 ซึ่งนำไปสู่ความล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่มีรัสเซียเป็นแกนนำ เขาคงต้องการที่จะนำรัสเซียซึ่งเคยยิ่งใหญ่ระดับโลกมาตั้งแต่อดีตและเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสหภาพโซเวียตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง นี่ก็อาจจะคล้าย ๆ กับความคิดของฮิตเลอร์
เขตดอนบาสทางด้านตะวันออกของยูเครนที่เป็นจุดที่รัสเซียจะเข้ายึดครองนั้นคล้ายกับซูเดเตนที่ว่ามันมีคนเชื้อสายของรัสเซียอยู่มากและเป็นเขตที่ถูก “กดขี่” แต่ถ้าต่อไปรัสเซียจะเข้ายึดยูเครนทั้งหมด มันก็จะคล้ายกับเช็กโกสโลวาเกีย หรืออาจจะคล้ายออสเตรียในแง่ที่ว่า ยูเครนนั้นแท้ที่จริงเป็นของรัสเซียมาตั้งแต่ต้น ความคล้ายยังอยู่ที่ว่า ก่อนการบุกยึดนั้น ปูตินได้ไปพบสีจิ้นผิงเพื่อที่จะหามิตรที่จะช่วยสนับสนุน “ความชอบธรรม” ซึ่งในอนาคตจีนเองก็อาจจะต้องการยึดไต้หวันกลับเป็นของจีนก็ได้
ผมไม่รู้ว่าพัฒนาการเรื่องนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร ดูเหมือนว่านาทีนี้ “โลกเสรี” กำลังพยายามต่อต้านรัสเซียแต่ก็กลัวว่าจะเกิดสงครามที่ไม่พร้อมจะรับ ในขณะเดียวกันก็กลัวว่าถ้าปล่อยไปก็อาจจะคล้าย ๆ กับเหตุการณ์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้แต่ใช้การแซงชั่นทางเศรษฐกิจซึ่งยากที่จะสำเร็จเมื่อพิจารณาจากการแซงชั่นที่ผ่านมา เราคงต้องดูกันต่อไปว่า โลกในยุคศตวรรษที่ 21 สงครามจะเป็นแบบไหน ผมเองก็ได้แต่หวังว่าปัจจัยชี้ขาดจะเป็นการต่อสู้ทางการค้าและข้อมูลข่าวสารที่ไม่เสียเลือดเนื้อเป็นหลัก ซึ่งถ้าวัดจากดัชนีตลาดหุ้นในช่วง 5 วันที่ผ่านมาก็พบว่าดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียตกลงไปถึง 27% ซึ่งในความคิดของผมก็คือมันเป็นสัญญาณว่า การก่อสงครามครั้งนี้รัสเซียจะเสียหายอย่างหนักและไม่คุ้มเลยที่ทำ พูดอีกอย่างก็คือ ผมเชื่อว่ารัสเซียจะไม่กลับมายิ่งใหญ่และจะยิ่งเลือนหายไปในประวัติศาสตร์
********************************************************
********************************************************
********************************************************
สรุปที่มาไป วิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน”
ข้อมูลจากห้องline
—————
ตอนที่ 1 สหภาพโซเวียตล่มสลาย
:
1- “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” ต่างก็เคยเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของ “สหภาพโซเวียต” โดยรัสเซียเป็นสาธารณรัฐที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด และมีเศรษฐกิจดีที่สุดในสหภาพโซเวียต
2- สหภาพโซเวียตมีทั้งหมด 15 สาธารณรัฐ ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แนวคิดคือสหภาพโซเวียตเป็นครอบครัวใหญ่ที่เท่าเทียมและมีความสุข ในทางทฤษฎีทุกรัฐจึงมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วรัสเซียมีอิทธิพลมากที่สุด และภาษารัสเซียก็เป็นภาษาหลักที่ใช้กันในหลายพื้นที่
3- ในปี 1991 สหภาพโซเวียตเสื่อมอำนาจและล่มสลาย ทั้ง 15 รัฐที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก็กลายเป็นรัฐเอกราชใหม่ รวมทั้งรัสเซียและยูเครน แต่รัสเซียยังพยายามที่จะรักษาบทบาทและอิทธิพลของตัวเองที่มีต่อประเทศอื่น ๆ ที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียตเอาไว้
—————
ตอนที่ 2 นาโต้ vs วอร์ซอว์
:
4- ย้อนกลับไปในปี 1949 ตอนที่สหภาพโซเวียตยังเรืองอำนาจ ก็เริ่มแผ่อำนาจคุกคามภูมิภาคยุโรป ชาติตะวันตก 12 ชาติ จึงรวมตัวกันก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” หรือที่รู้จักกันในนาม “นาโต้” (NATO) เพื่อสร้างพันธมิตรทางทหาร ถ่วงดุลสหภาพโซเวียต ถ้าประเทศสมาชิกถูกคุกคามก็จะส่งกำลังไปช่วยกัน (และประเทศที่มีบทบาทมากที่สุดในนาโต้ก็คือสหรัฐอเมริกา คู่ปรับของรัสเซียนั่นเอง)
5- ทางฝั่งสหภาพโซเวียตก็เลยก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์” (Warsaw Pact) ขึ้นมาบ้างเพื่อตอบโต้และคานอำนาจนาโต้ โดยมีประเทศพันธมิตรในยุโปตะวันออกที่เป็นคอมมิวนิสต์เข้าร่วม 8 ประเทศ
6- พอสหภาพโซเวียตล่มสลาย สนธิสัญญาวอร์ซอว์ถูกยุบ หลายประเทศที่เคยอยู่กับวอร์ซอว์ก็ไปเข้าร่วมกับนาโต้ และ 3 ประเทศที่แยกตัวจากสหภาพโซเวียต คือ ลัตเวีย ลิธัวเนีย เอสโตเนีย ก็เข้าร่วมนาโต้ด้วย ทำให้ขอบเขตของนาโต้ขยายไปจดพรมแดนรัสเซีย ทำให้รัสเซียเริ่มกังวล
7- สำหรับยูเครนนั้นยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต้ แต่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด และในปี 2008 นาโต้ได้ให้คำมั่นกับยูเครนว่าสักวันจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก
—————
ตอนที่ 3 ประเทศกันชน
:
8- เคยมีคนเปรียบเปรยว่า รัสเซียไม่เคยมองว่ายูเครนเป็นประเทศอื่น แต่มองว่ายูเครนเป็นเหมือน “สวนหลังบ้าน” ของตัวเอง ส่วนหนึ่งเพราะประชากรยูเครนจำนวนมากมีเชื้อสายรัสเซีย พูดภาษารัสเซีย ทั้งสองประเทศมีรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมจากเบ้าเดียวกัน
9- ยูเครนมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับรัสเซีย แต่ที่ตั้งของยูเครนนั้นคั่นกลางระหว่างรัสเซียกับยุโรป ทำให้กลายเป็น “กันชน” ของรัสเซียในการต้านอิทธิพลนาโต้อย่างเลี่ยงไม่ได้ พอประเทศรอบ ๆ เข้าร่วมนาโต้จนแทบจรดประตูบ้าน รัสเซียก็ระแวงว่าอาจเป็นแผนปิดล้อมของนาโต้ และมองเป็นภัยคุกคามความมั่นคง จึงส่งสัญญาณด้วยการแผ่อิทธิพลมายังยูเครนมากขึ้น
10- “วลาดิเมียร์ ปูติน” เป็นผู้นำรัสเซียที่ครองอำนาจยาวนานมาถึงปัจจุบัน เขาต่อต้านการขยายอิทธิพลนาโต้ในยุโรปตะวันออกอย่างแข็งกร้าวเปิดเผย เขาเตรียมรับมือด้วยการเสริมกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ตามแนวชายแดนยูเครน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ารัสเซียจะบุกยูเครน และอาจเกิดสงครามขยายวงไปถึงยุโรป
11- ยูเครนเองก็ไม่ได้มั่นคงและเป็นปึกแผ่นนัก ในประเทศมีทั้งฝ่ายนิยมตะวันตกและฝ่ายนิยมรัสเซีย มีกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนซึ่งฝักใฝ่รัสเซียคอยสร้างสถานการณ์อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ และเป็นที่ทราบกันว่ารัสเซียให้การหนุนหลังอยู่
—————
ตอนที่ 4 เลือกตั้งยูเครน
:
12- ในปี 2004 มีการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน เป็นการชิงชัยกันระหว่าง “วิกเตอร์ ยุชเชนโก” จากฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็นบุคคลที่ฝักใฝ่นาโต้และชาติตะวันตก กับ “วิกเตอร์ ยานูโควิช” ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ารัสเซียหนุนหลังอยู่
13- ตอนแรกยานูโควิชชนะเลือกตั้ง แต่ชาวยูเครนเชื่อว่ามีการแทรกแซงและโกงเลือกตั้ง จึงออกมาประท้วงและนัดหยุดงานครั้งใหญ่ทั่วประเทศ รู้จักกันในนาม “ปฏิวัติสีส้ม” (Orange Revolution) นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ซึ่งครั้งนี้ยุชเชนโกชนะ ได้เป็นประธานาธิบดี เขานำยูเครนถอยห่างจากรัสเซียไปใกล้ชิดกับชาติตะวันตกมากขึ้น
14- แต่ในปี 2010 มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในฝั่งประชาธิปไตยทำให้คราวนี้ยานูโควิชพลิกกลับมาชนะ ยานูโควิชซึ่งฝักใฝ่รัสเซียก็ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซีย และปฏิเสธความร่วมมือกับสหภาพยุโรปเพื่อเอาใจรัสเซีย ทำให้ในปี 2013 ชาวยูเครนออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่อีก
15- รัฐบาลยูเครนใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนบานปลายเป็นความรุนแรง มีประชาชนเสียชีวิต ทำให้ยานูโควิชถูกสภาถอดถอน เขาลี้ภัยไปรัสเซียและขอให้รัสเซียเข้าแทรกแซง รัสเซียออกมาโจมตีว่ามีชาติตะวันตกอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในยูเครน
—————
ตอนที่ 5 ยึดไครเมีย
:
16- พอผู้นำยูเครนที่ตนสนับสนุนถูกโค่น รัสเซียซึ่งตอนนั้นอยู่ใต้การนำของปูตินก็เกรงว่ายูเครนจะไปเข้าร่วมกับชาติตะวันตก จึงฉวยโอกาสส่งกองกำลังปฏิบัติการพิเศษเข้าไปยึดครอง “ไครเมีย” (Crimea) ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของยูเครนมาตั้งแต่สภาพโซเวียตล่มสลาย
17- พอรัสเซียยึดไครเมียได้แล้วก็ให้ไครเมียตั้งรัฐบาลท้องถิ่น แล้วจัดทำประชามติให้ชาวไครเมียเลือกว่าจะอยู่กับใคร ชาวไครเมียส่วนใหญ่มีเชื้อสายรัสเซียและสนับสนุนรัสเซียอยู่เป็นทุนเดิม ผลจึงออกมาว่า 95% เลือกอยู่กับรัสเซีย ไครเมียจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา
18- รัสเซียถูกประณามจากทั่วโลกว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ นาโต้ประกาศไม่รับรองสถานะของไครเมีย พร้อมเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินและกำลังทหารให้ยูเครน หลายประเทศคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ก็ทำอะไรรัสเซียไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหภาพยุโรปเองก็ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอยู่
19- ถึงอย่างนั้นยูเครนก็ยังมองว่าไครเมียเป็นของตนอยู่ เช่น ตอนออกแบบเสื้อทีมชาติในยูโร 2020 ก็ยังมีไครเมียในแผนที่บนเสื้อ ซึ่งทำให้รัสเซียไม่พอใจมาก การยึดไครเมียยังทำให้ยูเครนใกล้ชิดกับชาติตะวันตกมากขึ้น ถึงขั้นที่สหภาพยุโรปอนุมัติให้ชาวยูเครนเดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า
—————
ตอนที่ 6 สงครามดอนบาส
:
20- หลังไครเมียถูกรัสเซียยึด กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนก็เคลื่อนไหวหนักขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคดอนบาส (Donbas) ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐโดเนตสก์ (Donetsk) และลูฮันสก์ (Luhansk) จนเกิดเป็นการสู้รบระหว่างรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เรียกว่า “สงครามดอนบาส” มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
21- รัสเซียหนุนหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดน จนกลุ่มกบฏเอาชนะกองทัพยูเครนได้หลายครั้ง มีทหารยูเครนเสียชีวิตจำนวนมาก ยิ่งทำให้ยูเครนอยากเข้าร่วมนาโต้มากขึ้น เพราะหวังว่าเมื่อเป็นสมาชิกแล้วนาโต้จะส่งกำลังมาช่วย รัสเซียเองก็กังวลเรื่องนี้มาก ถึงกับขู่ว่าถ้านาโต้รับยูเครนเป็นสมาชิก ความขัดแย้งในดอนบาสจะรุนแรงขึ้นอีก
22- ในปี 2015 เยอรมันกับฝรั่งเศสช่วยเป็นตัวกลางเจรจา จนรัสเซียกับยูเครนยอมลงนามในสนธิสัญญามินสก์ (Minsk Accords) โดยตกลงหยุดยิง แล้วให้ยูเครนยอมรับสถานะพิเศษของโดเนตสก์และลูฮันสก์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการลงนามครั้งนี้ยูเครนเสียเปรียบ และเปิดโอกาสให้รัสเซียเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ความขัดแย้งนี้อย่างเป็นทางการ
23- แม้จะทำข้อตกลงแล้วแต่ความขัดแย้งก็ยังไม่คลี่คลาย จนต้องลงนามสนธิสัญญามินสก์ฉบับที่ 2 แต่ก็ยังยุติความรุนแรงในดอนบาสและตามแนวชายแดนไม่ได้ ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน เหตุปะทะชายแดนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 14,000 คน บาดเจ็บหลายหมื่น และมีคนพลัดถิ่นมากกว่า 1 ล้านคน
—————
ตอนที่ 7 ข้อเรียกร้องของรัสเซีย
:
24- ความขัดแย้งดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง รัสเซียสรรหากลวิธีต่าง ๆ มาโจมตียูเครนเป็นระยะ เช่น ปี 2016 โจมตีโครงข่ายไฟฟ้าจนกรุงเคียฟ (เมืองหลวงของยูเครน) ไฟดับทั้งเมือง ปี 2017 โจมตีทางไซเบอร์ทำให้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของยูเครนล่ม
25- ปลายปี 2021 รัสเซียนำทหารกว่า 1 แสนนาย ทั้งทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ พร้อมยุทโธปกรณ์หนักมาประชิดชายแดนยูเครน “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อสายตรงถึงปูติน เรียกร้องให้หยุดรุกรานยูเครน ส่วนนาโต้ก็ส่งเรือรบเครื่องบินรบไปเตรียมป้องกันภูมิภาค และส่งคนไปช่วยฝึกทหารให้ยูเครน
26- รัสเซียโอบล้อมยูเครนไว้ 3 ด้าน คือ ด้านตะวันออกที่มีการปะทะกันตามชายแดนมานานหลายปี ด้านใต้ซึ่งรัสเซียยึดไครเมียมาได้แล้ว และด้านเหนือก็เป็นที่ตั้งของประเทศเบลารุส น้องรักของรัสเซีย ซึ่งรัสเซียส่งทหารไปซ้อมรบกับกองกำลังเบลารุสเรียบร้อย
27- รัสเซียกลัวยูเครนเข้าร่วมนาโต้มาก เพราะนั่นหมายความว่านาโต้จะสามารถส่งกำลังทหารมาประชิดชายแดนรัสเซียได้ เปรียบเหมือนมีปืนมาจ่อท้ายทอย
28- รัสเซียถึงขั้นเขียนข้อตกลงขึ้นแล้วขอให้นาโต้ลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิก แต่ยูเครนประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับยูเครนและ 30 ประเทศสมาชิกของนาโต้เท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว
29- นอกจากนี้รัสเซียยังเรียกร้องให้นาโต้ยุติความเคลื่อนไหวทางทหาร ยุติการติดตั้งระบบอาวุธในยุโรปตะวันออก และระบุว่านาโต้มอบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยให้กับกองทัพยูเครน
30- ชาติตะวันตกมองว่านี่อาจนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบได้ หลายประเทศสั่งให้พลเมืองของตนที่อยู่ในยูเครนรีบออกมา แต่รัสเซียยืนยันว่าไม่มีแผนบุกยูเครน และประณามชาติตะวันตกกับนาโต้ว่าทำให้สถานการณ์แย่ลง
31- มีความพยายามที่จะใช้นโยบายทางการทูตลดความร้อนแรง เช่น ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเดินทางไปเยือนทั้งรัสเซียและยูเครน หวังเป็นตัวกลางเจรจายุติความขัดแย้ง
—————
ตอนที่ 8 ปูตินรับรองสถานะ 2 รัฐอิสระ
:
32- แต่สถานการณ์แย่ลงหลังจากเมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 65) ปูตินลงนามยอมรับสถานะรัฐอิสระของโดเนตสก์กับลูฮันสก์ พร้อมส่งกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อ “ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ” แล้วยังประกาศว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์รัสเซีย และภูมิภาคตะวันออกของยูเครนคือผืนดินโบราณของรัสเซีย
33- สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกแถลงประณามรัสเซีย คาดว่าอาจมีมาตการคว่ำบาตรตามมา ในขณะที่โลกกำลังจับตามองแบบใจหายใจคว่ำ
—————
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก: บีบีซีไทย, PPTV, The Standard, อมรินทร์ทีวี ฯลฯ