https://www.facebook.com/ThInvestForum/posts/10157592956901557
(เรียบเรียงตาม timeline)
1) ซุง กุก หวัง (Sung Kook Hwang) อพยพจากเกาหลีใต้มาอยู่สหรัฐฯ ตั้งแต่พ.ศ. 2525 เข้าเรียนที่ UCLA ก่อนจะไปต่อ MBA ที่ Carnegie Mellon
2) บิล หวัง เริ่มทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์สองแห่ง ก่อนจะย้ายมาเป็นนักวิเคราะห์ที่ Tiger Management ในปี 2539 ซึ่ง Tiger Management คือ hedge fund ชั้นนำของโลกในยุคนั้น เคยมีสินทรัพย์ภายใต้การดูแลถึง 680,000 แสนล้านบาทในปี 2541 ก่อนที่จะประสบปัญหาขาดทุนและปิดตัวลงในปี 2543
3) แม้บริษัทจะปิดตัวลง แต่ Julian Robertson ผู้ก่อตั้ง Tiger Management ยังมีเงินเหลือ และนำมาเป็นทุน (seed money) ให้เหล่าลูกน้องระดับหัวกะทิตั้ง hedge fund ของตัวเองได้ถึง 38 แห่ง โดย Julian Robertson จะขอหุ้นใน hedge fund นั้น ๆ ด้วย
4) ศิษย์ก้นกุฏิของ Julian Robertson รายที่ได้รับเงินทุนมาตั้ง hedge fund ของตัวเอง จะได้รับการขนานนามว่า “Tiger Cubs” หรือ “ลูกเสือ” ตามชื่อ Tiger Management ผู้เป็นต้นกำเนิด และ บิล หวัง ก็เป็นหนึ่งในเหล่า Tiger Cubs
5) Hedge fund ของ บิล หวัง มีชื่อว่า Tiger Asia ซึ่งเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ที่มีทั้งการชอร์ตและการกู้ยืมเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทน (leverage)
6) แม้ Tiger Asia จะนำเสนอว่าเน้นหุ้นไม่กี่ประเทศในเอเชีย แต่ในปี 2551 ก็ได้เข้าชอร์ตหุ้น Volkswagen AG ในยุโรป แต่เกิดการเก็งกำไรเรื่องการควบรวมกิจการ จนทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้น 4 เท่าตัวในเวลา 2 วัน ทำให้ Tiger Asia ขาดทุนมหาศาล จนนักลงทุนหลายรายถอนเงิน และด่าตามหลังว่าทำไมกองทุนที่บอกว่าเน้นหุ้นเอเชียถึงไปขาดทุนมหาศาลจากหุ้นยุโรป
7) ต่อมาในปี 2555 Tiger Asia ก็ถูก กลต. สหรัฐฯ ปรับ 60 ล้านเหรียญ ฐานใช้ข้อมูลภายในลงทุนในหุ้นธนาคารจีน และ Tiger Asia ก็ต้องปิดตัวลง โดย ณ จุดสูงสุด กองทุนนี้เคยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารสูงถึง 310,000 ล้านบาท
8) ปีถัดมา 2556 บิล หวัง ก่อตั้ง Archegos Capital Management ด้วยเงินของตัวเองล้วน ๆ เพื่อหวังสร้างความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง
9) บิล หวัง ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังสหรัฐฯ และได้รู้จักกับ Cathie Wood ผู้ก่อตั้ง ARK Investments มาตั้งแต่ปี 2559 ในฐานะสมาชิกร่วมในทีมที่ปรึกษา ซึ่ง บิล หวังเองก็เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนใน ARK Investments โดย Archegos และ ARK มีความร่วมมือกันด้านการวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่น่าลงทุน ทำให้ Portfolio ของ Archegos ในช่วงหนึ่งจึงเน้นหุ้นเทคโนโลยีอย่าง Amazon.com Facebook Netflix Linkedin
10) แต่ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ Archegos ลดสัดส่วนหุ้นเทคโนโลยี และหันมาลงทุนกระจายไปทั่ว ทั้งในหุ้นสื่ออย่าง ViacomCBS รวมถึง Discovery Inc. และเข้าถือหุ้นในจีนอย่าง GSX Techedu, Baidu, Iqiyi และ Vipshop
11) บิล หวัง ไม่ได้ใช้เงินตัวเองล้วน ๆ ในการซื้อหุ้น แต่ใช้เงินกู้ยืมร่วมด้วย โดย Archegos ได้รับเงินกู้ยืมหลัก ๆ จาก Morgan Stanley, Deutsche Bank AG, Wells Fargo, Goldman Sachs, Credit Suisse, Nomura
12) Archegos ได้รับประโยชน์จากตลาดหุ้นที่ทำผลงานดีมากในปี 2563 จึงมีการกู้ยืมเงินมาลงทุนมาขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ portfolio โตขึ้นเป็น 3,100,000 ล้านบาท (ประมาณ 100,000 ล้านเหรียญ) ผ่านการกู้ยืมประมาณ 4-5 เท่าของเงินต้น ซึ่งหากหุ้นยังขึ้นต่อไป ก็จะสร้างผลกำไรมหาศาลให้ Archegos และเจ้าหนี้ก็ได้รับค่าตอบแทนก้อนโตจากการให้กู้ยืม นอกจากนั้น Archegos ยังเข้าทำสัญญา Total Return Swap กับสถาบันการเงิน เพื่อให้หุ้นที่ลงทุนนั้นยังอยู่ในบัญชีของสถาบันการเงิน ทำให้ Archegos ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดย กลต. สหรัฐฯ แต่ยังได้รับผลตอบแทนเสมือนถือหุ้นไว้เอง
13) ความรุ่งเรืองของ Archegos เริ่มเข้าสู่หายนะในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 เมื่อบริษัท ViacomCBS ที่ Archegos ลงทุนอยู่เป็นจำนวนมหาศาล (ด้วยการใช้เงินกู้ยืม) ประกาศเพิ่มทุนและขายหุ้นกู้แปลงสภาพรวมมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนไปสู้กับบริการ streaming คู่แข่งระดับโลกอย่าง Apple TV และ Netflix ซึ่งเป็นสัญญาณด้านลบอย่างรุนแรงต่อนักลงทุน (บริษัทจนตรอกถึงขนาดต้องออกหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นกู้ที่แปลงสภาพเป็นทุนได้ แทนที่จะออกหุ้นกู้ปกติหรือใช้กำไรสะสมที่มีอยู่เดิม) ทำให้ราคาหุ้น ViacomCBS ร่วงลง 9% และ 23% ภายในสองวัน
14) และเมื่อหุ้นนั้นมาจากเงินกู้ เมื่อมูลค่าหุ้นลดลงอย่างมากในเวลาไม่กี่วัน เจ้าหนี้ก็ต้องพิจารณากลยุทธ์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากราคาหุ้นเริ่มฟื้นตัวได้เอง ทุกฝ่ายก็จะปลอดภัย แต่ถ้ามีเจ้าหนี้รายใดเริ่มเทขายหุ้นหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยง ราคาหุ้นก็จะยิ่งดิ่งลง
15) Credit Suisse เลือกที่จะรอให้หุ้นฟื้นตัว แต่ Morgan Stanley กลับชิงเทขายหุ้นหลักประกันของ Archegos เป็นมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท และตามมาด้วย Goldman Sachs อีก 330,000 ล้านบาท
16) เมื่อสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่เทขายหุ้นในนามของ Archegos กันเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่า Goldman Sachs, Morgan Stanley, Deutsche Bank AG และ Wells Fargo แทบไม่ขาดทุน เพราะชิงขายก่อน ขณะที่ Credit Suisse เจอผลขาดทุนเข้าไป 148,000 ล้านบาท และ Nomura ก็ขาดทุน 63,000 ล้านบาท
17) และเนื่องจากเป็นการลงทุนแบบ leverage ตัว Archegos เองก็ขาดทุนถึง 630,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินอย่างน้อยสองในสามของทรัพย์สินทั้งหมดของบิล หวัง (เมื่อนับจากตัวเลขสูงสุดที่ว่ากันว่าเคยมีถึง 960,000 ล้านบาท)
18) Bloomberg สรุปว่า ข้อดีของเรื่องนี้คือ ผลขาดทุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ไม่ได้ลุกลามเป็นวิกฤติการเงิน แต่ความแย่คือ เรื่องนี้สามารถป้องกันได้หากเจ้าหนี้ไม่ปล่อยเงินกู้เป็นจำนวนมหาศาลขนาดนั้นแต่แรก และกลต.สหรัฐฯ เองก็หละหลวมในการปล่อยให้ Archegos ทำธุรกรรม Total Return Swap กับสถาบันการเงินเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบได้
No comments:
Post a Comment