Monday, April 25, 2022

ปรากฏการณ์ เงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี /โดย ลงทุนแมน

 ปรากฏการณ์ เงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี /โดย ลงทุนแมน


******************************************************************

Key Summary:

วิกฤติเศรษฐกิจในอดีต เกิด Lost Decades

ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากรู้สึกกลัวการลงทุน โดยเฉพาะในตลาดหุ้น รวมทั้งยังปลูกฝังความคิดนี้มายังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อ ๆ มา จนถึงตอนนี้ ทำให้คนญี่ปุ่นนิยมถือเงินสด

บวกกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนเหล่านั้นเลือกที่จะเก็บเงินให้ปลอดภัยสำหรับวัยเกษียณ มากกว่าที่จะรับความเสี่ยงจากการลงทุน หรือการทำธุรกิจ

- รัฐบาลเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นต้องคอยออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกู้ยืมเงิน และนำเงินที่ได้มาอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จนทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีหนี้สินต่อ GDP สูงกว่า 257%

ดังนั้นหากญี่ปุ่นปล่อยให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น รัฐบาลก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น

- แต่ล่าสุดธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา กำลังปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ
นักลงทุนจำนวนมาก จึงเทขายพันธบัตรของญี่ปุ่น แล้วไปถือพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาแทน
ทำให้มีเงินเยนไหลออกจากพันธบัตรกลับเข้าสู่ระบบ ค่าเงินเยนจึงอ่อนตัวตามมา

- ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สกุลเงินเยน มีความต้องการลดลง ส่งผลให้ค่าเงินปรับตัวอ่อนลง ตามไปด้วย


******************************************************************************

ในอดีต สกุลเงินเยนถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจากการที่ญี่ปุ่นขยายการลงทุน และถือครองทรัพย์สินจำนวนมากในต่างประเทศ ทำให้ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นนักลงทุนและเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก
ทำให้ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อไร นักลงทุนจำนวนมากมักจะย้ายเงินไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย
ค่าเงินเยนก็จะแข็งค่าขึ้น ไม่ต่างกับสกุลเงินฟรังก์สวิส
ในปีนี้ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก
แต่ค่าเงินเยนที่ควรจะแข็งค่าขึ้น กลับอ่อนค่าเข้าใกล้สู่ระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งนับเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุด ในรอบ 20 ปี
ที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ทั่วโลกกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น แต่ญี่ปุ่นกลับดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำ จนทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง แตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี
แล้วทำไมค่าเงินเยนถึงอ่อนลง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง


วิกฤติเศรษฐกิจในอดีต ทำให้คนญี่ปุ่นนิยมถือเงินสด
ประสบการณ์อันเลวร้ายในช่วงฟองสบู่แตกครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น ช่วงปี 1990 ทำให้ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ และราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ก็ได้เริ่มปรับตัวลดลง จนหลายคนเจ็บตัวอย่างหนักจากการลงทุน
วิกฤติฟองสบู่ครั้งใหญ่ในครั้งนั้น ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในภาวะซบเซา ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ หรือที่เรียกกันว่า “Lost Decades”
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนญี่ปุ่นนั้นลดลง จากการที่หลายคนต้องตกงาน ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลโดยตรง ต่อการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ
นี่เองเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากรู้สึกกลัวการลงทุน โดยเฉพาะในตลาดหุ้น รวมทั้งยังปลูกฝังความคิดนี้มายังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อ ๆ มา จนถึงตอนนี้
รู้หรือไม่ว่าในช่วงปี 1990 ถึงปี 2020 ญี่ปุ่นประสบกับภาวะเงินฝืด มากถึง 14 ปี ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะเงินฝืด นั่นหมายความว่า ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มที่จะลดลง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ชาวญี่ปุ่นจึงเกิดแรงจูงใจในการถือเงินสด มากกว่าที่จะนำเงินออกไปใช้จ่าย หรือชะลอการใช้จ่ายออกไปก่อน
เพราะพวกเขาเชื่อว่าเงินก้อนในวันนี้ จะมีมูลค่ามากขึ้นในอนาคต และเลือกที่จะนำเงินไปฝากกับธนาคารไว้ก่อน
บวกกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนเหล่านั้นเลือกที่จะเก็บเงินให้ปลอดภัยสำหรับวัยเกษียณ มากกว่าที่จะรับความเสี่ยงจากการลงทุน หรือการทำธุรกิจ
สุดท้ายแล้วจึงเกิดกับดักสภาพคล่อง ที่ไม่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจไปมากเท่าไร ก็ไม่สร้างการเติบโตได้ตามเป้าที่วางไว้ เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลือกที่จะประหยัดและเก็บออม มากกว่าใช้จ่ายเมื่อมีเงินเหลือ
จากการให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ต้นทุนทางการเงิน หรือก็คือ “ดอกเบี้ย” คือสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องกดให้ต่ำไว้
เพราะเมื่อไรก็ตาม ที่ดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง ผู้คนก็เลือกที่จะฝากเงินมากขึ้น และลดการกู้ยืมลง เพราะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูง การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลง
ไม่เพียงแต่เอกชนเท่านั้น รัฐบาลเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นต้องคอยออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกู้ยืมเงิน และนำเงินที่ได้มาอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จนทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีหนี้สินต่อ GDP สูงกว่า 257%
ดังนั้นหากญี่ปุ่นปล่อยให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น รัฐบาลก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น
แต่ล่าสุดธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา กำลังปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ
นักลงทุนจำนวนมาก จึงเทขายพันธบัตรของญี่ปุ่น แล้วไปถือพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาแทน
ทำให้มีเงินเยนไหลออกจากพันธบัตรกลับเข้าสู่ระบบ ค่าเงินเยนจึงอ่อนตัวตามมา
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สกุลเงินเยน มีความต้องการลดลง ส่งผลให้ค่าเงินปรับตัวอ่อนลง ตามไปด้วย
ปัจจัยต่อมาคือ “การลงทุนในต่างแดนของประเทศญี่ปุ่น” ทำให้ความต้องการถือเงินเยนลดลงมาโดยตลอด
เนื่องจากระดับค่าจ้างแรงงานในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก ขยายการลงทุนไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า
ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลประโยชน์ จากการขยายการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่น
รู้หรือไม่ว่ากว่า 1 ใน 4 ของการผลิตสินค้าของบริษัทญี่ปุ่น มีฐานการผลิตอยู่ในต่างประเทศ
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ประมาณ 2 ใน 3 ของรถยนต์ญี่ปุ่นที่ขายกันอยู่ ถูกผลิตขึ้นในต่างแดน
การขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าจากญี่ปุ่นลดน้อยลง
ความต้องการในการถือเงินเยนก็ลดลงตามไปด้วย
และปัจจัยสุดท้ายคือ การเข้ามาแทรกแซงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี
ของธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่นหรือ BOJ
เนื่องจากนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ
ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลที่ออกมาจึงต่ำไปด้วย ทำให้เกิดการเทขายพันธบัตร
แล้วไปถือสินทรัพย์อย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า อย่างเช่น หุ้น ส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น
ซึ่งการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกหนี้ หรือก็คือรัฐบาลญี่ปุ่น รวมถึงยังทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ BOJ ต้องเข้ามารับซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ถูกเทขาย เพื่อกด Bond Yield ให้อยู่ในระดับต่ำที่ 0.25%
จนทำให้ BOJ กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาล ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลมากถึง 43% ของจำนวนพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน เงินที่ BOJ นำมาช้อนซื้อพันธบัตรรัฐบาล ไม่ได้มาจากเงินสำรอง หรือเงินทุนจากส่วนอื่น แต่มาจากการพิมพ์เงินออกมาเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล
แล้วชาวญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่อ่อนลง อย่างไรบ้าง ?
ปกติแล้วการอ่อนค่าของสกุลเงิน จะส่งผลดีต่อการส่งออก และการท่องเที่ยวภายในประเทศ
อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวก็ยังต้องใช้เวลา กว่าจะถึงระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด
แต่ที่น่ากังวลก็คือ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน อย่างเช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพงอยู่แล้ว จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กลายเป็นแพงยิ่งขึ้นไปอีก จากผลกระทบของค่าเงินเยนที่อ่อนตัว
สุดท้ายแล้วก็สะท้อนไปที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทางการค้า หรือก็คือเงินไหลออกมากกว่าเงินไหลเข้า
โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 1.19 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดดุลสูงที่สุดในรอบ 8 ปีเลยทีเดียว
แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก คงไม่มีช่วงเวลาใดจะเหมาะสมแก่การไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นได้มากเท่านี้อีกแล้ว เพราะค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง ทำให้เราซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นได้มากขึ้น จนหลายคนได้แลกเงินเยนรอไว้ล่วงหน้าแล้ว
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากญี่ปุ่นเปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อไร
คนไทยจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรก ๆ ที่เลือกญี่ปุ่น เป็นจุดหมายปลายทางเช่นเคย..

No comments:

Post a Comment