Tuesday, November 25, 2014

ทีดีอาร์ไอเตือนรับมือ'สังคมสูงอายุ'

ทีดีอาร์ไอเตือนรับมือสังคมสูงอายุ ชี้เกิดเต็มรูปแบบปี 2568-เร็วสุดในเอเชีย




นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้เสนอรายงาน เรื่อง "สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ : ความท้าทายละโอกาสของประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า " ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 โดยเสนอให้รัฐเร่งหามาตรการรับสังคมสูงอายุ มีประเด็นดังนี้

สหประชาชาติได้พยากรณ์ไว้ว่าในสภาพสถานการณ์อัตราการเจริญพันธุ์ระดับปานกลาง ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในช่วงประมาณปี 2025 เมื่อประชากร 20% กลายเป็นประชากรสูงอายุ (มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) และในปี ค.ศ. 2045 ประเทศไทยจะมีคนสูงอายุถึง 36% หรือมากกว่าหนึ่งในสามของประชากร

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแล้ว ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์เร็วกว่าหลายประเทศ ยกเว้นเฉพาะบางประเทศเช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วกว่าประเทศไทย โดยไทยจะมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับจำนวนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาในปี ค.ศ. 2025 ในขณะที่จีนจะเข้าสู่จุดดังกล่าวในปี ค.ศ. 2030 เวียดนามในปี ค.ศ. 2040 มาเลเซียในปี ค.ศ. 2050 ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียจะยังไม่เข้าสู่จุดดังกล่าวก่อนปี ค.ศ. 2050 หรือเข้าสู่สังคมสูงอายุช้ากว่าไทยเกือบ 3 ทศวรรษ

การที่อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงยังมีผลทำให้จำนวนประชากรไทยในปี ค.ศ. 2045 ลดลงเหลือ เพียง 63.8 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ไทยประสบกับสภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง นอกจากนี้ การที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว ยังจะส่งผลทำให้ฐานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมมีปัญหาจนถึงขั้นล้มละลายในประมาณปี ค.ศ. 2045 หากไม่มีการปฏิรูประบบประกันสังคมอย่างทันกาล ซึ่งจะก่อให้เกิดภาระทางการคลังอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่คนวัยทำงานซึ่งจะเป็นผู้จ่ายภาษีมีจำนวนที่ลดลง

การเข้าสู่สังคมสูงอายุจะทำให้ประเทศไทยประสบกับปัญหาต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อคนไทยเป็นอย่างมาก หากประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจจนมีรายได้พ้นระดับรายได้ปานกลาง หรือที่เรียกกันว่า “ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง” เพราะเราจะกลายเป็นประเทศที่ “แก่ก่อนรวย” และ “แก่โดยยังไม่มีระบบสวัสดิการสังคมรองรับอย่างเพียงพอ”

นายสมเกียรติ กล่าวว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในทวีปเอเชีย โดยคาดว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 และในปี 2588 จะมีประชากรผู้สูงอายุเป็น 36% ของประชากรทั้งหมด

"ในอนาคตเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และเร็วกว่าเพื่อนบ้านในเอเชีย ตามหลังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ข้อแตกต่างคือทั้ง 2 ประเทศพวกเขารวยก่อนจะแก่ แต่ประเทศไทยเรายังติดกับดักรายได้ปานกลาง และทำให้พวกเราจะแก่ก่อนที่จะรวยได้"

นายสมเกียรติ กล่าวว่าเพื่อให้เห็นถึงโฉมหน้าของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และความท้าทายต่างๆ จึงประเมินว่าภาพสถานการณ์ที่เป็นไปได้ (possible scenario) ใน 3 ทศวรรษหน้า 3 สถานการณ์คือ

1. “ประเทศไทยไปเรื่อยๆ”

2. “ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า”

3. “ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้”

จากการศึกษาพบว่าหากประเทศไทยเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในอีก 30 ปีข้าวหน้า หรือในปี 2587 เราจะมีรายได้ต่อหัวที่ 17,016 ดอลลาร์ อัตราการเติบโตเฉลี่ย 3.55% ต่อปี เราจะก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางในปี 2579 หลังจากที่เราเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ แรงงานในระบบคิดเป็น 60% ทั้งหมด เราจะมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรม 49.8% บริการ 45.8% เกษตร 4.4%

อย่างไรก็ตามหากมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เข้ามาอาจทำให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางช้าลง โดยหากมีภาระการคลังจากการรักษาพยาบาลจะล่าช้าออกไป 2 ปี มีต้นทุนจากนโยบายประชานิยมปีละ 1 แสนล้านบาทจะล่าช้าไป 4 ปี มีวิกฤติสถาบันการเงินจะล่าช้าไป 4 ปีและหากมีปัญหาการเมืองจะช้าแบบประมาณการไม่ได้

ชี้2ทางเลือกดันไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทางเลือกของไทย มี 2 ทางคือ 1. เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าโดยพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิคเน้นทักษะเฉพาะคุณภาพสูง จูงใจให้เอกชนพัฒนาและวิจัยมากขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศที่ไร้ทักษะมาทำงานในไทย ซึ่งหากสามารถทำได้จะทำให้ใน 30 ปีข้างหน้าเราจะมีรายได้ 23,736 ดอลลาร์ต่อคน อัตราการเติบโตที่ 4.59 % จะพ้นกับดักรายได้ปานกลางในปี 2571

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งนั้นคือการพัฒนาสังคมไปยังเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ โดยให้ภาคการเกษตรส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนสู่เกษตรทันสมัยใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ และมีการพัฒนาและวิจัยพันธุ์พืชโดยใช้เกษตรประณีต เช่น อินทรีย์เป็นองค์ประกอบเสริมโดยสิ่งที่ควรทำคือการบริหารแหล่งน้ำให้มีประสิทธิภาพลงทุนพัฒนาและวิจัยพันธุ์พืช

แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรในระดับสูงส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรขนาดใหญ่โดยนโยบายรัฐและระวังคอนแทคฟาร์มมิ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง หากสามารถจะทำให้รายได้ใน 30 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 28,402 ดอลลาร์ต่อคนอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.21% ต่อปี ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางอยู่ที่ 2571

การเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 4 ประการเกิดขึ้นคือ

ทุนมนุษย์ : ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาทุนมนุษย์(human capital) ให้มีคุณภาพสูง โจทย์สำคัญก็คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตก้าวหน้าต้องการทักษะเฉพาะ แต่แรงงานไทยเปลี่ยนงานบ่อย ทำให้ไม่สามารถสะสมทักษะเฉพาะในระดับสูงได้ ในขณะเดียวกัน ภาคบริการฐานความรู้ต้องการทักษะทั่วไป แต่ระบบการศึกษาของไทยตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงอุดมศึกษายังมีคุณภาพต่ำ แนวทางที่เหมาะสมในการตอบรับความท้าทายดังกล่าวคือ การพัฒนาให้ประชาชนไทยมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st century skill) และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของประชาชน

เงินทุน: การจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจจะต้องจูงใจให้เกิดกิจกรรมที่เพิ่มผลิตภาพเช่น การทำวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการสร้างนวัตกรรม ซึ่งต้องการเงินทุนสนับสนุนในหลายรูปแบบทั้ง เงินให้เปล่า (grant) จากภาครัฐ สินเชื่อ (credit) จากธนาคารพาณิชย์และเงินร่วมลงทุนเพื่อเริ่มกิจการ (venture capital) จากนักลงทุน ทั้งนี้ตามระดับความเสี่ยงของกิจกรรม

การบริหารจัดการ: การบริหารจัดการภาครัฐจะต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ โดยรัฐจะต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป และมีหน้าที่ที่เหมาะสมคือเสริมการทำงานของตลาด มีวินัยทางการเงินการคลังและมีธรรมาภิบาล ซึ่งหมายถึง มีความโปร่งใส (transparency) เปิดให้มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ (participation) และมีความพร้อมรับผิด (accountability) ซึ่งรวมถึงมีประสิทธิภาพในการให้บริการ

ตลาด: ประเทศไทยจำเป็นจะต้องพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศแห่งการค้า (trading nation) ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (open economy) โดยเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ การเชื่อมโยงดังกล่าวอาจเริ่มต้นจากการเชื่อมโยงกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก่อน


http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/analysis/20141125/619592/%C2%B7%D5%B4%C3%95%C3%8D%C3%92%C3%83%C3%AC%C3%A4%C3%8D%C3%A0%C2%B5%C3%97%CD%B9%C3%83%D1%BA%C3%81%C3%97%C3%8D%C3%8A%D1%A7%C2%A4%C3%81%C3%8A%D9%A7%C3%8D%C3%92%C3%82%C3%98.html

No comments:

Post a Comment